“รังหนู-ปลวกแทะ-เสื่อมโทรม” งบ 60 ล้านไปไหน?
นำเข้าเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2561 โดย จุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58540]  

.....

 เปิดใจช้ำๆ นี่หรือบ้านพักแพทย์ “รังหนู-ปลวกแทะ-เสื่อมโทรม” งบ 60 ล้านไปไหน?

 
 
ขยี้ตารัวๆ! นี่หรือบ้านพักหมอ “ฝ้าพัง-ปลวกแทะ-รังหนู” แถมต้องควักตังค์ซ่อมแซมเองอีก ล่าสุด ม.ขอนแก่น แจง บ้านสร้างมานานสภาพเก่าเป็นธรรมดา พร้อมมีงบฯ ปรับปรุงให้อยู่แล้ว ทว่า สังคมตอกกลับ “งบ 60 ล้าน..หายไปไหน” น่าเห็นใจหมอทำงานอย่างเหนื่อย คุณภาพชีวิตอย่างต่ำ!
 
“บ้านเก่าทรุดโทรม-ความปลอดภัยไม่มี” 
 
นี่หรือ 'บ้าน' ที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องอาศัย!? ดราม่าสนั่นเมืองหลังมีการเผยแพร่ภาพบ้านพักแพทย์สภาพเหมือนบ้านผีสิง สืบเนื่องจากกรณีโจรบุกงัดบ้านพัก 'หมอฐิติ จันทร์เมฆา' ศัลยแพทย์หัวใจและหลอดเลือดทรวงอก ประจำศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น ที่ผ่านมา
 
'นพ.ฐิติ จันทร์เมฆา' เปิดใจช้ำๆ กับทีมข่าว ผู้จัดการ Live หลังสอบถามถึงกรณีที่กำลังเป็นที่พูดถึงในขณะนี้ ซึ่งด้าน นพ.ฐิติ ยอมรับว่าไม่ทราบเรื่องงบประมาณ 60 ล้านบาทมาก่อน ทั้งยังชี้แจงถึงประเด็นที่ 'ผศ.ธรา ธรรมโรจน์' ออกมาให้สัมภาษณ์ว่ามีข้อมูลที่ไม่ตรงกันอยู่หลายจุด
 
“จากคำสัมภาษณ์ท่านผู้บริหารยังให้ข้อมูลไม่ตรง ทำให้ผมเสียหายได้ ผมจึงขอชี้แจงดังนี้ ตอนรับบ้านมาปี 2556 สภาพบ้านอยู่ไม่ได้ครับ ทั้งรังหนู ปลวกฝุ่น ผมจ่ายค่ารีโนเวตเองครับ ขนาดท่อประปาบ้านผมแตกผมยังจ่ายค่าซ่อมเองเลย ตอนที่คณะให้เลือกบ้าน บ้านหลังนี้ดูดีสุดแล้วครับ สภาพแรกตอนผมเลือกยิ่งกว่านี้อีก
 
สภาพบ้านก่อนรีโนเวต
 
ส่วนที่สองผมมีบ้านที่ขอนแก่นจริง แต่เป็นบ้านพ่อและครอบครัวพี่ชายอยู่ ผมจึงต้องย้ายออกมา ดังนั้นบ้านใน มข.คือบ้านที่ผมใช้ชีวิตอยู่จริง ส่วนเรื่องงบประมาณ 60 ล้านที่มี ท่านควรชี้แจงมาว่าใช้ไปกับอะไรบ้าง เพราะผมเพิ่งทราบจากที่ท่านรองคณบดีเป็นคนให้ข้อมูล ไม่ทราบเลยครับว่ามีงบตรงนี้ด้วย”
 
ทั้งนี้ นพ.ฐิติ ยอมรับว่าหลังจากทำการรีโนเวตบ้านพักให้เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยตั้งแต่แรกเข้า ตนไม่ได้ติดใจเรื่องของสภาพที่อยู่อาศัยแต่อย่างใด ทว่า สิ่งที่กังวลคือเรื่องของความปลอดภัยเสียมากกว่า
 
“ทางคณะกับทางมหาวิทยาลัยค่อนข้างใจดีนะที่ให้บ้านผม เพราะผมต้องการบ้านอยู่ในมหาวิทยาลัย จริงๆ ผมค่อนข้างรักบ้านหลังนี้มากเลยนะครับ แต่มันมีปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น ตอนแรกที่รับบ้านหลังนี้ สภาพของบ้านไม่ได้พร้อมอยู่ตั้งแต่แรก ผมต้องเสียเงินรีโนเวทเป็นแสน เพื่อที่จะทำให้อยู่ได้ 
 
แต่หลังจากที่ทำเสร็จ ผมก็แฮปปี้นะครับ ครอบครัวผมก็อยู่ที่นี่ ผมอยู่ประจำไม่ได้ไปนอนที่อื่นเลย แต่โดยกติกาการรับบ้าน ผมต้องยื่นใบสมัคร ยื่นความจำนงไป เขาจะเรียงลำดับว่าเราได้ลำดับเท่านี้ ผมได้ต้นๆ จึงมีสิทธิ์เลือกบ้านก่อน ที่ผมเลือกบ้านหลังนี้ เพราะหลังนี้ดูดีที่สุดแล้ว 
 
โควต้าที่ผมเห็น เท่าที่ได้ไปดูประมาณ 7 หลัง บ้านหลังนี้ดูดีสุด ส่วนบ้านพักของคุณพยาบาลกับผู้ช่วยพยาบาลโหดร้ายทารุณกว่านี้อีกครับ ผมเชื่อว่าถ้าเห็นต้องตกใจกว่าบ้านที่ผมถ่าย 10 เท่า 
 
ซึ่งบ้านหลังนี้ผมอยู่ได้ไม่มีปัญหา แต่ปัญหาของผมอย่างเดียว คือ ระบบความปลอดภัยเท่านั้นเอง เนื่องจากว่าใครก็เข้ามาในมหาวิทยาลัยได้ ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยต้องมีระบบสกรีนนิ่งคนเข้า และมีระบบกล้องวงจรปิดให้มันถี่ขึ้น รวมถึงต้องมีการติดตั้งไฟตามถนนด้วย”
 
ด้วยสภาพบ้านพักของบุคลากรทางการแพทย์อย่างที่เห็น ทำให้สังคมตั้งคำถามว่านี่จะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ผู้เป็นแพทย์เลือกทำงานที่ รพ.เอกชนมากกว่า รพ.รัฐ หรือไม่ ซึ่งด้าน นพ.ฐิติ ให้คำตอบว่าอาจแค่ส่วนหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามได้กล่าวทิ้งท้ายถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าดูแลพื้นที่อาศัยของบุคลากรทางด้านสาธารณสุขในพื้นที่อื่นๆ ด้วย
 
“บางส่วนที่หาที่พักเองนอกมหาวิทยาลัยก็มีครับ ด้วยสภาพบ้านพักที่เห็น มันอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนตัดสินใจเลือกทำงานที่ รพ.เอกชนก็ได้ด้วย แต่ผมเองได้ทุนของรัฐบาล ถามว่ามี รพ.เอกชนมาเสนอไหม มีครับ แต่ผมไม่ได้ไป ผมต้องทำงานให้ประชาชนครับ เพราะเขาเสียภาษีให้ผม รพ.เอกชนไม่ได้เสียภาษีให้ผมครับ (หัวเราะ) 
 
สุดท้าย ที่ผมอยากฝาก คือ บ้านพักของเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรสาธารณสุขที่อยู่ต่างอำเภอ หรือว่าในโรงพยาบาลจังหวัด ยิ่งกว่าผม 10 เท่า เขาน่าสงสารกว่าผม ผมคิดว่าน่าจะเข้าไปดูแลเขาให้ดีๆ มากกว่าครับ ผมอยากให้เห็นใจเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านสาธารณสุข
 
ไม่ใช่แค่หมอ แต่ทั้งคุณพยาบาล คุณผู้ช่วยพยาบาล คุณเภสัชฯ หรือเจ้าหน้าที่ทุกคนที่อยู่ในโรงพยาบาล เขาอยู่กันแบบนี้ทุกคน รวมทั้งข้าราชการด้านอื่นด้วย เช่น ครู ผมฝากมาดูแลตรงนี้หน่อย 
 
จริงๆ แล้ว ผมคิดว่าเขาไม่ได้ต้องการบ้านอย่างหรูหลังหลักล้าน แต่ขอแค่บ้านที่อยู่อาศัยได้ มีคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยที่ดี เขาก็แฮปปี้และมีกำลังใจในการทำงานให้องค์กรอย่างเต็มที่แน่นอน” 
 
คุณภาพชีวิตติดลบ..ที่ต้องทำใจ!?
 
ขณะที่สังคมยังคงอ้าปากค้าง! หลังเห็นสภาพบ้านพักหมอ หลังจากได้เปิดบ้านให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้ามาตรวจสอบความเสียหายจากเหตุการณ์โจรบุกงัดบ้านที่ผ่านมา 
 
ทันทีที่เห็นบ้านพักของหมอคนดังกล่าวในสภาพเก่าทรุดโทรม สีผนังหลุดลอก ภายในตัวบ้านไม่น่าอยู่อาศัย ทำเอาสังคมพากันวิจารณ์อย่างหนัก แถมตั้งคำถามร่วมกันว่า บุคลากรทางการแพทย์น่าจะมีสวัสดิการด้านที่พักอาศัยที่ดีกว่านี้หรือไม่!?
 
“ดูสภาพความเป็นอยู่ของแพทย์ภาครัฐ น่าเห็นใจมาก จริงๆ จะไปเป็นหมอตาม รพ.เอกชน ซึ่งมีรายได้-สวัสดิการดีกว่านี้ ก็ทำได้ แต่หมอหลายคน เลือกที่จะอยู่ รพ.ของรัฐ เข้าใจหมอเลยค่ะ เมื่อเห็นภาพแบบนี้ รัฐควรเอาใจใส่บุคลากรทางการแพทย์ ให้มากๆ นะคะ ขอให้ปฏิรูปสักทีเถอะ”
 
“ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมหมอ-พยาบาลหลั่งไหลไป รพ.เอกชนกันหมด ใครๆ ก็อยากมีชีวิตที่ดีกันทั้งนั้น”
 
“เงินเดือนก็น้อยอยู่แล้ว ในฐานะคนไข้คนหนึ่ง ผมอยากให้คุณหมอมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น อย่างน้อยเรื่องที่อยู่อาศัยก็ต้องมีความปลอดภัย ขอให้ท่านผู้บังคับบัญชาทั้งหลายดูแลความเป็นอยู่ผู้ใต้บังคับบัญชาท่านด้วยครับ”
 
หลังจากที่เกิดกระแสวิจารณ์ออกไป ร้อนไปถึง 'ผศ.ธรา ธรรมโรจน์' รองคณบดีฝ่ายการคลัง พัสดุและทรัพยากรบุคคล ได้ชี้แจงกรณีนี้ผ่านรายการ 'ข่าวใหญ่ไทยแลนด์' ทางช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ว่าโดยปกติแล้ว บ้านพักที่มีการจัดสรรให้บุคลากรมีการใช้งานมาแล้วมากกว่า 20 ปี จึงส่งผลให้สภาพภายในและภายนอกของตัวบ้านมีสภาพทรุดโทรม 
 
ทั้งนี้ ด้านคณะแพทยศาสตร์ได้มีการตรวจสอบโครงสร้างภายใน-ภายนอกของบ้านให้เรียบร้อยดี ก่อนให้บุคลากรเข้าอาศัยทุกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยได้มีงบประมาณในการปรับปรุงอย่างน้อยปีละ 60 ล้านบาท! 
 
“บ้านพักที่จัดสรรให้บุคลากรยอมรับว่าสร้างมานานแล้ว ประมาณ 25 ปี แต่ก่อนที่จะจัดสรรให้บุคลากร ทางคณะจะมีการตรวจสอบทั้งหมดว่าโครงสร้างได้มาตรฐาน สภาพภายในและภายนอกอยู่ในลักษณะคนเข้ามาอาศัยอยู่ได้ทันที เพราะคนเก่าที่ออกไปก็จะต้องปรับปรุงใหม่ทั้งหมดให้อยู่ในสภาพเดิม
สภาพบ้านก่อนรีโนเวต
 
เพราะฉะนั้น คนใหม่ที่จะรับบ้านเข้าไปอยู่ก็ต้องตรวจสอบตั้งแต่ต้นว่าบ้านอยู่ในสภาพดีทั้งหมด เมื่อส่งมอบแล้วหลังจากนั้นก็จะเป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างทางคณะและผู้อยู่อาศัย โดยทางคณะจะดูแลโครงสร้างและสภาพแวดล้อมภายนอก ส่วนภายในทางผู้อยู่อาศัยจะช่วยกันดูแล ทางคณะได้มีหน่วยงานดูแลตลอดเวลา
 
ส่วนสภาพภายนอกที่เห็นว่าทรุดโทรมนั้น เท่าที่มีข้อมูล นพ.ฐิติ ได้เข้ามาอยู่ตั้งแต่ 2556 ก่อนเข้าไปอยู่บ้านทุกหลังแม้จะใช้งานมากว่า 20 ปี ทางคณะได้ตรวจสอบทุกอย่าง เมื่อเข้าไปแล้วก็ต้องช่วยกันดูแล 
 
ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยขอนแก่นมีงบประมาณปรับปรุงอย่างน้อยปีละ 60 ล้านบาท ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การปรับปรุง แต่เมื่อบ้านไหนสร้างมานานมาก ตรวจสอบแล้วว่าสภาพบ้านไม่เหมาะกับการพักอาศัยต่อไปก็ต้องเสนอเรื่องให้มหาวิทยาลัยขอทุบทิ้งและก่อสร้างใหม่ คณะแพทยศาสตร์ไม่สามารถตัดสินใจได้เอง เพราะเป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัย”
 
ทั้งนี้ ทางทีมข่าว ผู้จัดการ Live ได้ตรวจสอบข้อมูลไปยัง 'หน่วยสวัสดิการที่พักอาศัย' ภายใต้งานบริหารและธุรการของคณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น พบว่าประเภทของที่พักอาศัยแบ่งออกเป็นบ้าน-แฟลต-เรือนพักผู้ช่วยพยาบาล รวมไปถึงบ้านรับรอง
 
ซึ่งหน่วยสวัสดิการที่พักอาศัยมีหน้าที่หลักในการบริหารจัดการด้านการให้บริการที่พักอาศัยแก่บุคลากรตามข้อกำหนดของคณะแพทยศาสตร์ ทั้งยังมีหน้าที่ดูแลที่พักอาศัยบริเวณที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสิ่งแวดล้อมในส่วนที่คณะแพทยศาสตร์รับผิดชอบอีกด้วย

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้