ปลดล็อก “ 58 ไม้หวงห้าม” ตัดได้-ขายได้-ค้ำประกันเงินกู้ได้
นำเข้าเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2561 โดย จุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58585]  

.....

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การเปลี่ยนแปลงกฎหมายฉบับคร่ำครึที่ใช้มานานกว่า 76 ปี “พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ.2484” โดยเฉพาะ มาตรา 7 “ปลดล็อกไม้หวงห้ามในที่ดินกรรมสิทธิ์” เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกำลังจับตา สร้างมิติใหม่แวดวงป่าไม้ ไม่เพียงประชาชนสามารถตัดไม้และขายไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์ ยังสามารถนำไม้ยืนต้นมูลค่าสูงเหล่านี้ไปค้ำประกันเงินกู้ได้

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เปิดเผยถึงกรณีเตรียมเสนอแก้ไข พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ป่าไม้ พ.ศ.2484 ในมาตรา 7 เพื่อให้ประชาชนที่ปลูกไม้ยืนต้นมูลค่าสูงในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือพื้นที่ของตนเอง สามารถตัดไม้ไปขายได้หรือสามารถเปลี่ยนแปลงเป็นเงินได้

 

โดยเป็นต้นไม้ตามบัญชีท้ายกฏหมายว่าด้วยสวนป่าจำนวน 58 ชนิด ได้แก่ สัก พะยูง ชิงชัน ประดู่ป่า ประดู่บ้าน มะค่าแดง มะค่าแต้ เคี่ยม เคี่ยมคะนอง เต็ง รัง ตะเคียน ตะเคียนทอง ตะเคียนชันตาแมว ไม้สกุลยาง พะยอม สะเดา สะเดาเทียม ตะกู ยมหิน ยมหอม นางพญาเสือโคร่ง นนทรี สัตบรรณ ตีนเป็ดทะเล พฤกษ์ ปีบ ตะแบกนา ตะแบกเลือด เสลา อินทนิลน้ำ กัลปพฤกษ์ ราชพฤกษ์ หว้า จามจุรี กฤษณา นากบุด ไม้สกุลจำปี มะขาม แคนา สุพรรณิการ์ เหลืองปรีดิยาธร มะหาด มะขามป้อม พลับพลา กันเกรา กะทังใบใหญ่ หลุมพอ กฤษณา ไม้หอม เทพทาโร ฝาง ไผ่ทุกชนิด ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลทุเรียน กระพี้เขาควาย สาธร แดง

 

กล่าวคือ “ปลดล็อก มาตรา 7” เพื่อยกประโยชน์ให้บุคคลที่มีต้นไม้มีค่าอยู่ในครอบครอง ซึ่งในสมัยก่อนมีการบังคับใช้ในการควบคุมการตัดไม้ผิดกฎหมาย แต่กลายเป็นว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ที่อยากจะทำถูกกฎหมายสำหรับผู้ต้องการปลูกไม้หวงห้ามในที่ดินกรรมสิทธิ์ เช่น ไม้พะยูงพื้นที่บ้านใครแล้วถูกตัดก็จะถือว่ามีความผิด กลายเป็นการสร้างปัญหาแก่พี่น้องประชาชน จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงกฎหมายให้เท่าทันสถานการณ์ปัจจุบัน 

 

“ไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์ก็จะเป็นประโยชน์ทางทรัพย์สินของเจ้าของ ซึ่งสามารถขายได้ส่วนรายละเอียดในกติกาเรื่องการรับรองไม้ต่างๆ นั้น จะอยู่ในรายละเอียดต่อไป ประชาชนหากมีที่ดินก็สามารถปลูกเอาไว้ เพื่อเป็นเงินออมในอนาคตเพราะอีก 20 - 30 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าสูง ดีกว่าการหยอดกระปุก เพราะกระปุกไม่แตก ปลูกให้เป็นทรัพย์สินได้ แต่มูลค่าของไม้แต่ละชนิดจะ ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด และตลาดจะเป็นตัวกำหนดมูลค่าของต้นไม้ชนิดนั้นๆ ดังนั้นใครที่มีที่ดินจำนวนมากก็น่าจูงใจให้ปลูกไม้มีค่ากันมากๆ” พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าว

 

โดยขั้นตอนอยู่ระหว่างเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอยกเลิกมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวผ่านขั้นตอนการพิจารณาของกระทรวงฯ รวมทั้ง ผ่านการทำประชาพิจารณ์ของประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการกำหนดราคากลางของไม้มีค่า ซึ่งทาง พล.อ.สุรศักดิ์ ให้เหตุผลว่าราคากลางจะเป็นไปตามกลไกตลาด เช่น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ซึ่งตลาดกลางรับซื้อไม้สักอยู่แล้วในปัจจุบัน ซึ่งไม้พะยูงเป็นไม้ที่มีราคาสูงที่สุด

 

ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ “ไม้ยืนต้นทั้ง 58 ชนิด สามารถค้ำประกันเงินกู้ได้” โดยกระทรวงพาณิชย์ เสนอต่อ ครม. ออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ ภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ให้นำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจประเภทใหม่

 

เปิดทางให้นำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจเพื่อกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ โดยกำหนดว่าจะต้องเป็นต้นไม้ตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่า จำนวน 58 ชนิด ที่สามารถนำมาเป็นทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวก และมีโอกาสในการประกอบธุรกิจมากขึ้น 

 

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงประเด็นดังกล่าวว่า เป็นหนึ่งในแผนขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งในส่วนของระบบการจัดการทรัพยากรและชุมชน พร้อมกับผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกต้นไม้ยืนต้นมูลค่าสูงในที่ดินกรรมสิทธิ์ เพื่อเป็นการออมและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 

 

“กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเสนอแก้ พ.ร.บ.ป่าไม้ ในมาตรา 7 เพื่อให้ประชาชนที่ปลูกไม้ยืนต้นมูลค่าสูงในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือพื้นที่ของตนเอง สามารถตัดไม้ไปขายได้ หรือสามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ ซึ่งถือเป็นวิธีการออมเงินอีกทางหนึ่ง และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจขึ้นมา รวมทั้งเป็นการสร้างให้เกิดพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น และสามารถเก็บเป็นมรดกให้ลูกหลานได้ ส่วนต้นไม้แต่ละชนิดจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่าใดจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสถาบันการเงินต่อไป”นายณัฐพร กล่าว

 

นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ออกกฎกระทรวงภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 โดยเพิ่มทรัพย์สินอื่น คือ ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินกรรมสิทธิ์เพื่อการออม การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศไทย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากต้นไม้ระหว่างการปลูก โดยนำไปเป็นหลักประกันทางธุรกิจเพื่อกู้ยืมเงินกับสถาบันการเงินได้ 

 

“การกำหนดให้ไม้ยืนต้นนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ กรมฯ ได้รับฟังความคิดเห็นจากภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สหกรณ์สวนป่าภาคเอกชน กรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สมาคมธนาคารไทยและธนาคารรัฐ เช่น ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน SME Bank และทุกหน่วยงานเห็นตรงกัน และสนับสนุนให้มีการดำเนินการ”

 

สาระสำคัญ ให้ประชาชนจะสามารนำต้นไม้ที่มีค่าเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันขอกู้เงินธนาคารได้ โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนเข้าถึงเงินกู้ได้ง่ายขึ้น ส่งเสริมให้มีการปลูกต้นไม้ในที่ดินของตัวเอง ส่งเสริมการออมในอนาคต สร้างมูลค่าให้ต้นไม้และเพิ่มพื้นที่ป่า รวมทั้ง เพื่อเพิ่มทรัพย์สินอื่นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อให้ขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน ภายใต้ พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ

 

ทั้งนี้ การปรับแก้ พ.ร.บ. ป่าไม้ฯ มาตรา 7 เป็นการลดขั้นตอนการอนุญาตให้ทั้งผู้ประกอบการเเละประชาชนที่มีไม้ในบัญชีหวงห้าม เช่น พะยูง ชิงชัน สัก ยางนา ฯลฯ ที่ขึ้นอยู่ในที่ดินเอกสารสิทธิของตัวเอง สามารถปลูกหรือตัดไม้หวงห้ามบนที่ดินกรรมสิทธิได้ และเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ระหว่างปี 2560 - 2579 รวมทั้ง ป้องกันกลุ่มค้าไม้เถื่อนเเอบอ้างเป็นไม้จากที่ดินเอกสารสิทธิ

 

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ส่งเสริมนโยบายการปลูกป่าเศรษฐกิจ โดยลดขั้นตอนการอนุญาตให้ประชาชน สามารถทำไม้หวงห้ามในที่ดินของตัวเองได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งเรื่องการส่งเสริมป่าเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่พูดกันมาหลายรัฐบาล แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ ปัญหาหนึ่งคือกฎหมายป่าไม้ฉบับปัจจุบัน ยังคงมุ่งเน้นไปที่การป้องกันปราบปราม จึงทำให้อุตสาหกรรมป่าไม้ ขาดกลไกในการส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจของประเทศ

 

ด้านองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์ โดยชอบด้วยกฎหมาย ปี 2561 ประมาณ 22,000 ไร่ ในพื้นที่สวนป่า 81 สวนป่า ใน 36 จังหวัด โดยตั้งเป้าสร้างรายได้ให้ชุมชนและเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ 500,000 ไร่ ในเวลา 20 ปี

 

คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า การเปลี่ยนแปลงกฎหมายป่าไม้ในครั้งนี้ จะสร้างสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจได้เพียงใด และที่สำคัญชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยจะเป็นไปในทิศทางใด

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้