ร. ๑๐ กษัตริย์ไทยพระองค์แรก
นำเข้าเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2561 โดย จุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58593]  

ที่ขับเครื่องบิน! ทั้งเครื่องบินรบและเครื่องบินโดยสาร!!.....

 ร. ๑๐ กษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ขับเครื่องบิน! ทั้งเครื่องบินรบและเครื่องบินโดยสาร!!

เผยแพร่: 28 ก.ค. 2561 13:45   โดย: โรม บุนนาค
 
มีบันทึกไว้ว่า พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงอ่านเขียนภาษาอังกฤษได้คล่อง คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จไปต่างประเทศ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงจบการศึกษาจากต่างประเทศ คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ 
 
ปัจจุบันคงต้องจารึกไว้อีกว่า พระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงมีพระราชกรณยกิจอย่างทั้ง ๓ องค์นี้แล้ว ยังเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงขับเครื่องบิน ก็คือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดิทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐
 
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดิทรเทพยวรางกูร ทรงสนพระทัยด้านอากาศยานและการบินมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อทรงจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยดันทรูน ประเทศออสเตรเลีย เข้ารับราชการในกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์แล้ว ไนปี พ.ศ.๒๕๒๒ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กองทัพอากาศถวายการฝึกบินตามหลักสูตรของโรงเรียนนายเรืออากาศ โดยทรงเริ่มทำการบินตามหลักสูตรเฮลิคอปเตอร์แบบต่างๆจำนวน ๑๘๙,๒ ชั่วโมงบิน ทรงสำเร็จหลักสูตรได้รับพระราชทานประดับเครื่องหมายแสดงความสามารถการบินของกองทัพอากาศ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙
 
ในระหว่างทรงฝึกบินตามหลักสูตรดังกล่าว ทรงมีพระราชกรณียกิจติดตามสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา ด้วยความสนพระทัยในการบินอย่างจริงจัง จึงทรงเข้ารับการฝึกบินเฮลืคอปเตอร์ของกองทัพบกสหรัฐที่ Fort Bragg จำนวน ๓๑.๔ ชั่วโมงบิน
 
และเมื่อทรงทำการบินกับอากาศยานแบบปีกหมุนแบต่างๆแล้ว ทรงสนพระทัยที่จะทรงบินกับอากาศยานแบบปีกตรึง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กองทัพอากาศจัดถวายการฝึกบินเปลี่ยนแบบให้ต่อไป โดยทรงทำการฝึกบินกับเครื่องบินใบพัดแบบ Marchetti ของฝูงฝึกชั้นปลายโรงเรียนนายเรืออากาศ และสำเร็จหลักสูตรมีชั่วโมงฝึกบิน ๑๔๒,๓ ชั่วโมง แล้วจึงทรงฝึกบินเปลี่ยนแบบกับเครื่งบินไอพ่นแบบ T-๓๘ ฝูงฝึกชั้นปลายโรงเรียนการบินกองทัพอากาศมีชั่วโมงบิน ๒๐๖.๔ ชั่วโมง
 
หลังจากนั้นทรงฝึกบินตามหลักสูตรนักบินพร้อมรบขั้นพื้นฐานกับเครื่องไอพ่นแบบ T-๓๓ สำเร็จหลักสูตรมีชั่วโมงบิน ๑๘๙.๗ ชั่วโมง และทรงฝึกบินหลักสูตรนักบินขับไล่ไอพ่นสมรรถนะสูง แบบ F-๕ E/F มีชั่วโมงบินในหลักสูตรนี้อีก ๒๐๐ ชั่วโมง
 
ต่อมาในระหว่างปลายปี พ.ศ.๒๔๒๕ ถึงปลายปี พ.ศ.๒๕๕๖ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงฝึกศึกษาด้านการบินกับเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูง แบบ F-๕ E/F ที่ฐานทัพอากาศ William ในรัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกา ในหลักสูตรการบินขับไล่พื้นฐาน มีชั่วโมงบินตามหลักสูตร ๙๗,๕ ชั่วโมง แล้วต่อด้วยหลักสูตรการบินขับไล่ขั้นสูง มีชั่วโมงบินตามหลักสูตรอีก ๔๑,๘ ชั่วโมง
 
เมื่อเสด็จนิวัติประเทศไทยแล้ว ยังทรงเข้ารับการฝึกบินในหลักสูตรการบินรบชั้นสูงกับเครื่องบิน F-๕ E/F ที่กองบิน ๑ อีกจนจบหลักสูตร
 
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำการบินทบทวนหลักสูตรต่างๆอย่างสม่ำเสมอ จนทรงพร้อมรบและครบ ๑,๐๐๐ ชั่วโมง เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๒ และยังทรงเข้าร่วมการแข่งขันใช้อาวุธทางอากาศประจำปี ทรงทำคะแนนได้สูงตามกติกา กองทัพอากาศได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องหมายความสามารถในการใช้อาวุธทางอากาศชั้น ๑ 
 
นอกจากนี้ ยังทรงปฏิบัติหน้าที่ครูการบิน พระราชทานการฝึกสอนทั้งภาควิชาการและการฝึกบินแก่นักบินขับไล่ของกองทัพอากาศอีกด้วย กองทัพอากาศได้ทูลเกล้าฯถวาย “กิตติบัตร” ครูการบินเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูง F-๕ E/F ในวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๗
 
ด้วยพระวิริยะ อุตสาหะ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงทำการบินกับเครื่องบินแบบนี้อย่างสม่ำเสมอ จนทรงมีชั่วโมงบินเฉพาะ F-๕ E/F ถึง ๒,๐๐๐ ชั่วโมง บริษัท นอร์ธรอป สหรัฐอเมริกา ผู้ผลิตเครื่องบินรบ F-๕ E/F จึงได้ทูลเกล้าฯถวายกิตติบัตรที่ได้บินครบ ๒,๐๐๐ ชั่วโมง
 
นอกจากทรงขับเครื่องบินรบจนเป็นพระอาจารย์แล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงสนพระทัยการฝึกหัดขับเครื่องบินโบอิ้ง ๗๓๗-๔๐๐ ที่เป็นเครื่องบินที่ถวายการบินอยู่เป็นประจำ และเป็นแบบที่บริษัทการบินไทยใช้อยู่ ทรงมีพระราชดำริว่าจะเป็นประโยชน์ในพระราชกรณีกิจต่อไป จึงโปรดเกล้าฯให้บริษัทการบินไทยจัดการฝึกถวายอย่างเต็มหลักสูตรเช่นเดียวกับการฝึกนักบินของบริษัททุกประการ บริษัทการบินไทยจึงจัดให้ กัปตันอัษฎาวุธ วัฒนางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายฝึกอบรมนักบิน และ กัปตันอภิรัตน์ อาทิตย์เที่ยง หัวหน้าครูการบินสำหรับเครื่องบินโบอิ้งรุ่นนี้ เป็นผู้ถวายการฝึก โดยเริ่มภาควิชาการในต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๗ และ เริ่มฝึกบินในปลายเดือนสิงหาคมนั้น ทรงจบหลักสูตรได้รับศักย์การบินในฐานะกัปตันของเครื่องบินโบอิ้ง ๗๓๗-๔๐๐ ในวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๙ 
 
แม้จะทรงฝึกบินเครื่องบินแบบโดยสารจนจบหลักสูตรแล้ว ก็ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำการฝึกบินต่อไป เพื่อให้ทรงมีมาตรฐานเดียวกับกัปตันของการบินไทย ด้วยเหตุนี้ ครูการบินจึงได้จัดหลักสูตรถวายเพิ่มเติมโดยใช้เครื่องบินพระที่นั่งเป็นหลัก เริ่มจากการบินเส้นทางใกล้ๆเพื่อทำความคุ้นเคยกับเส้นทางบินและการขึ้นลงทั้งสนามบินในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งทรงฝึกบินด้วยเทคนิคต่างๆเพื่อสะสมประสบการณ์ด้านการบิน
 
สำหรับการบินไปยังสนามบินต่างประเทศนั้น นอกจากจะทรงทำการฝึกตามหลักสูตรแล้ว ยังได้ทรงขับเครื่องบินเสด็จฯไปเป็นผู้แทนพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสต่างๆด้วย รวมถึงการเสด็จฯไปพระราชทานสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ ณ กรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถาน และทรงฝึกบินเพิ่มประสบการณ์ไปยังกลุ่มประเทศใกล้เคียง เช่น ประเทศสิงคโปร์, บรูไน, จีน และเวียดนาม ทรงมีชั่วโมงบินรวมด้วยเครื่องบินโบอิ้ง ๗๓๗-๔๐๐ ประมาณ ๑,๗๐๐ ชั่วโมง และจำนวนเที่ยวบินขึ้นลง ๒,๔๐๐ เที่ยว และได้เสด็จฯไปทรงฝึกบินเครื่องบินโบอิ้ง ที่ประเทศสวีเดนด้วย
 
อีกเที่ยวบินหนึ่งที่พสกนิกรไทยไม่ลืมเลย ก็คือเที่ยวบินประวัติศาสตร์ “สายใยรักแห่งครอบครัว” ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บริษัทการบินไทยจัดเที่ยวบินพิเศษมหากุศล ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ และจัดหาอุปกรณ์ด้านการแพทย์สำหรับโรงพยาบาลใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำรายได้จากผู้โดยสารที่ร่วมเดินทางในราคาที่นั่งละ ๑ บ้านบาท โดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำการบินเครื่องบินพระที่นั่งโบอิ้ง ๗๓๗-๔๐๐ นาม “ศรีสุราษฎร์” ด้วยพระองค์เองในตำแหน่งนักบินที่ ๑ กัปตันอัษฎาวุธ วัฒนางกูร เป็นนักบินที่ ๒ จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ ในวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๐ และกลับในวันที่ ๖ มกราคม ได้รับการบริจาคเป็นเงิน ๘๐ ล้านบาท
 
ต่อมาในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ บริษัทการบินไทยได้จัดเที่ยวบินพิเศษมหากุศลขึ้นอีกครั้ง ในโอกาสครบรอบ ๕๐ ปี จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปท่าอากาศยานนานาชาติเมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เพื่อไปกราบสักการะพระมหาเจดีย์พุทธคยา สถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาโพธิญาณ จำหน่ายบัตรโดยสารแก่ผู้โดยสารที่ร่วมเดินทางที่นั่งละ ๕๐๐,๐๐๐ บาท โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย และทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อสมทบทุนมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมทบกองทุนพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ เพื่อผู้ประสบภัยพิบัติ โดยมียอดบริจาคในครั้งนี้ ๕๐.๕ ล้านบาท เที่ยวบินนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงทำการบินด้วยพระองค์เอง ในตำแหน่งนักบินที่ ๑ โดยมีกัปตันอัษฎาวุธ วัฒนางกูร เป็นนักบินที่ ๒ 
 
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง ที่ทรงมีพระราชหฤทัยอันเปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณาต่อพสกนิกรชาวไทย
 
พระมหากษัตริย์ของไทยต่างทรงมีพระปรีชาสามารถแตกต่างกันแต่ละพระองค์ สำหรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดิทรเทพยวรางกูร รัชกาลปัจจุบัน พระปรีชาสามารถที่โดดเด่นอย่างหนึ่งก็คือ ทรงเป็นกษัตริย์นักบินพระองค์แรกของประวัติศาสตร์ชาติไทย

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้