เมื่อสยามเริ่มบินหลังพี่น้องตระกูลไรท์เพียง ๘ ปี!
นำเข้าเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2561 โดย จุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58595]  

เมื่อสยามเริ่มบินหลังพี่น้องตระกูลไรท์เพียง ๘ ปี! ใช้สนามม้าฝรั่งเป็นสนามบินก่อนดอนเมือง!! เผยแพร่: 5 ก.พ. 2561 10:23:00 โดย: โรม บุนนาค เครื่องบินลำแรกที่มาโชว์สยาม ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๔๔๖ พี่น้องตระกูลไรท์ประสบความสำเร็จในการทดลองการบินเป็นครั้งแรก ซึ่งถือกันว่ามนุษย์เริ่มบินได้ในวันนั้น หลังจากนั้นเพียง ๘ ปี ในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๔ นายแวน เดอ บอร์น นักบินชาวเบลเยี่ยม ได้นำเครื่องบินแบบอังรีฟาร์มัง ของฝรั่งเศส บินจากไซ่ง่อนมาถึงกรุงเทพฯ.....

และแสดงการบินให้ประชาชนชมที่สนามม้าสระปทุม โดยมี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้สำเร็จการศึกษาด้านโยธาธิการและวิศวกรรมมาจากอังกฤษ และเจ้าฟ้าจักรพง์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก ทรงสนพระทัย ผลัดกันขึ้นบินทั้ง ๒ พระองค์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ขึ้นประทับก่อน โดยกัปตันพาบินวนเหนือสนามราชกรีฑาสโมสร เป็นเวลา ๓ นาที ๔๕ วินาที ซึ่งถือว่าเป็นตนไทยคนแรกที่ขึ้นเครื่องบิน จากการทดลองบินในวันนั้น พี่น้องทั้งสองพระองค์ทรงเห็นว่า เครื่องบินจะเป็นประโยชน์อย่างมากทั้งกิจการทหารและพลเรือน ในปีนั้นเองจึงส่งนักบิน ๓ คนไปเรียนการบินที่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศผู้นำการบินในขณะนั้นเมื่อนักบินทั้ง ๓ กลับมาในปี ๒๔๕๖ ไทยได้สั่งซื้อเครื่องบินแบบเบรเกต์ ปีก ๒ ชั้น ซึ่งเป็นเครื่องบินรุ่นที่นักบินไทยใช้ฝึกบินในฝรั่งเศสมา ๓ เครื่อง และเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) ซื้อให้อีก ๑ เครื่อง ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องบินรุ่นที่ก่อให้เกิดการบินขึ้นในสยาม ๑ ใน ๔ ของเครื่องบินรุ่นนี้ มีชื่อว่า “ขัตติยนารี” ยังถูกเก็บไว้ในสภาพสมบูรณ์ขณะนี้ที่พิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศเมื่อซื้อเครื่องบินมาศึกษาได้ ๒ ปี ยังไม่ทันมีกองทัพอากาศ ไทยเราก็แสดงฝีมือทันที โดยในปี ๒๔๕๘ กองโรงงาน กรมการบินทหารบก ได้สั่งซื้อเครื่องยนต์เบรเกต์มา แล้วสร้างลำตัวและปีกเอง ใบพัดใช้ไม้โมกมัน สร้างเครื่องบินเองได้สำเร็จ (จากซ้าย) พันตรีหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ ร้อยเอกหลวงอาวุธสิขิกร ร้อยโททิพย์ เกตุทัต ๓ นักบินไทยรุ่นแรก ในปี ๒๔๗๐ พ.ท.หลวงเวชยันตร์รังสฤษฏ์ (มุนี มหาสันทนะ) ซึ่งเป็นผู้บังคับฝูง กองโรงงาน กรมอากาศยาน ได้ออกแบบเครื่องบินเอง มีปีก ๒ ชั้น ให้กองโรงงานสร้างขึ้น ใช้เครื่องจูปีเตอร์ ๔๕๐ แรงม้า ความเร็ว ๑๕๗ ไมล์ต่อชั่วโมง ได้รับพระราชทานนามจากรัชกาลที่ ๗ ว่า “บริพัตร” ตามพระนามของสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ซึ่งนับเป็นเครื่องบินลำแรกที่ไทยออกแบบเอง บินไปโชว์ที่อินเดียและไซ่ง่อน ตามคำเชิญของรัฐบาลทั้ง ๒ ประเทศนั้นสนามบินแห่งแรกในตอนนั้น ได้ใช้สนามม้าราชกรีฑาสโมสร ที่ถนนอังรีดูนังต์ นับเป็นสนามบินแห่งแรกของไทย เรียกกันว่า “สนามบินสระปทุม” แต่ก็ใช้อยู่ในช่วงสั้นๆเท่านั้น เนื่องจากคับแคบและมีความไม่เหมาะสมหลายอย่าง จึงต้องหาสถานที่ใหม่ที่กว้างขวางกว่า นายพันโท พระเฉลิมอากาศ ๑ ใน ๓ ของนักบินรุ่นแรกจากฝรั่งเศส หัวหน้านักบินชุดแรกของกองทัพบก ได้รับมอบหน้าที่นี้ หลังจากใช้เครื่องบินแบบเบรเกต์บินสำรวจแล้ว ก็พบว่าพื้นที่ทางตอนเหนือของอำเภอบางเขนเป็นบริเวณที่เหมาะสม เพราะเป็นท้องทุ่งกว้างขวาง และเป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง ห่างจากสนามบินสระปทุมเพียง ๑๓ นาทีบิน หรือประมาณ ๒๒ กิโลเมตร มีรถไฟผ่าน ชาวบ้านเรียกกันว่า “ดอนอีเหยี่ยว” เนื่องจากมีเหยี่ยวชุกชุม กรมเกียกกายทหารบกจึงเข้าปรับปรุงพื้นที่ให้เครื่องบินขึ้นลงได้ เรียกชื่อว่า “สนามบินดอนเมือง” จนในวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๕๖ จึงนำเครื่องบิน ๓ ลำบินจากสนามสระปทุมมาลงเป็นครั้งแรก ภาพเขียนสนามม้าเป็นสนามบิน ในวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๔๕๗ กระทรวงกลาโหมได้ตั้ง “กองบินทหารบก” ขึ้น และเข้าประจำที่สนามบินดอนเมือง เป็นรากฐานอันมั่นคงในกิจการบินของไทย แม้ต่อมากองบินทหารบกจะพัฒนาเป็น กรมอากาศยานทหารบก กรมทหารอากาศ จนแยกจากกองทัพบกมาเป็นกองทัพอากาศแล้วก็ตาม ก็ยังถือเอาว่าวันที่ ๒๗ มีนาคม เป็นวันกองทัพอากาศ ในปี ๒๔๘๓ กองทัพอากาศได้จัดตั้ง “กองการบินพลเรือน” ขึ้น ดำเนินงานเกี่ยวกับการบินระหว่างประเทศ จนในปี ๒๔๙๑ได้ยกฐานะขึ้นเป็น “กรมการบินพลเรือน” พร้อมปรับปรุงสนามบินดอนเมืองเป็นสนามบินนานาชาติ มีชื่อว่า “ท่าอากาศยานดอนเมือง” จนในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๙๘ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ท่าอากาศยานกรุงเทพ” เมื่อ “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” เปิดในวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๙ สนามบินดอนเมืองก็ตกอยู่ในความเงียบเหงา เมื่อเที่ยวบินพาณิชย์ย้ายไปสุวรรณภูมิทั้งหมด แต่พอเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ครม.ก็มีมติให้เปิดบริการที่สนามบินดอนเมืองอีกครั้ง เมื่อพบว่าสุวรรณภูมิมีปัญหาหลายประการ และกลับมาใช้ชื่อ “ท่าอากาศยานดอนเมือง” อีกตั้งแต่วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๐บินลงดอนเมืองครั้งแรกประวัติศาสตร์ที่สำคัญของสนามบินดอนเมืองอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการบินเลย แต่เกี่ยวกับการเมือง เมื่อบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้อนุญาตให้สำนักนายกรัฐมนตรีเข้าใช้พื้นที่เป็นที่ทำงานของคณะรัฐมนตรีชั่วคราว ตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๕๑ ถึงวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๑ เพราะถูก “คนเสื้อเหลือง” ยึดทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่เดือนสิงหาคมในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช จนรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์พ้นตำแหน่งจึงสลายการชุมนุม ซึ่งทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้รับการจารึกชื่อในประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่า เป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีโอกาสได้เข้าไปเหยียบทำเนียบรัฐบาลเลย อ้าว.. บินหลงเข้าไปการเมืองที่ยุ่งๆจนได้

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้