ระลึกถึงคำสอนของพ่อ!
นำเข้าเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2560 โดย จุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58529]  

ระลึกถึงคำสอนของพ่อ! ทำความดีเพื่อแผ่นดินตามรอยเท้าพ่อกันต่อไป!! เผยแพร่: 27 ต.ค. 2560 บัดนี้ การส่งเสด็จ “พ่อ” สู่สวรรคาลัยก็ได้ลุล่วงไปแล้ว แต่ “พ่อ” ก็ยังอยู่ในใจเราตลอดไปตราบนิรันดร์ เราเหล่าพสกนิกรผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณได้ตั้งจิตให้สัญญากันไว้แล้วว่า เราจะตอบแทนพระคุณของ “พ่อ” ด้วยการเป็นคนดีของแผ่นดินตามรอยเท้า “พ่อ” ที่ทรงสละความสุขส่วนพระองค์มาอย่างยาวนานเป็นแบบอย่างและสั่งสอนไว้.....

นอกจากโครงการพระราชดำริกว่า ๔,๐๐๐ โครงการที่ทรงสร้างไว้ทั่วทุกหัวระแหง ทำให้พสกนิกรทั้งชนบทและในเมืองต่างมีชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยไม่เลือกเชื้อชาติและศาสนาแล้ว สิ่งมีค่าประเสริฐอีกสิ่งหนึ่งที่พ่อได้พระราชทานไว้ก็ คือคำสอนที่ปรากฏในพระราชดำรัสในโอกาสต่างๆ ชี้แนวทางดำเนินชีวิตไปสู่ความดีงามและประโยชน์สุข คำสอนเหล่านี้เพียงข้อหนึ่งข้อใด ถ้าพร้อมใจกันประพฤติปฏิบัติ ความสงบสุขร่มเย็นก็จะบังเกิดแก่สังคมและประเทศชาติ ตามที่ “พ่อ” ทรงมุ่งมั่นทันที อย่างเช่น “...ข้อสังเกตที่ประทับใจข้าพเจ้าในระหว่างที่อยู่ต่างประเทศต่างๆเหล่านี้ ข้อหนึ่งนั้นก็คือ ประเทศไหนประชาชนพลเมืองมีความสามัคคีกลมเกลียวกันดี มีระเบียบวินัยดี ประเทศนั้นก็เจริญและอยู่ในฐานะดี ยิ่งมีความสมัครสมานกลมเกลียวกันมาก ก็ยิ่งเจริญมาก จึงเห็นได้ว่าความสามัคคีกลมเกลียวกันระหว่างคนในชาติ และความเข้าใจรักษาระเบียบวินัยนี้แหละ ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่ง ที่จะช่วยนำประเทศชาติสู่ความวัฒนาถาวร ข้าพเจ้าใคร่ขอฝากข้อคิดนี้ไว้แก่ท่านทั้งหลายด้วย...” พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสเสด็จออกให้ประชาชนเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๐๔ “...คนไทยนำตัว นำชาติให้รอดพ้นอันตราย และเจริญเป็นอิสระมาโดยตลอดได้ ด้วยอาศัยความเพียรพยายาม คือพยายามไม่ก่อความชั่วให้เป็นเครื่องทำลายตัว ทำลายผู้อื่น พยายามลด พยายามละความชั่วที่ตัวเองมีอยู่ พยายามก่อความดีให้แก่ตัวอยู่เสมอ พยายามรักษาและเพิ่มพูนความดีที่มีอยู่นั้นให้งอกงามสมบูรณ์ขึ้น ความเพียรที่ชอบ ๔ สถานนี้ เป็นข้อที่ควรศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติให้เกิดผล แต่ละคนจะเป็นสุขขึ้น และเจริญขึ้น ทั้งในฐานะความเป็นอยู่ ทั้งในความคิดจิตใจ...” พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่สามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อให้อ่านในการประชุมสามัญประจำปี วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๒๖ “...ชาติบ้านเมือง คือ ชีวิตเลือดเนื้อ และสมบัติของเราทุกคน และการดำรงรักษาชาติประเทศนั้น มิใช่หน้าที่ของบุคคลผู้ใดหมู่ใดโดยเฉพาะ หากแต่เป็นหน้าที่ของทุกๆฝ่าย ทุกๆคน ที่จักต้องร่วมมือกระทำพร้อมกันไป โดยสอดคล้องกัน เกื้อกูลกัน และมีจุดมุ่งหมาย มีอุดมคติร่วมกัน ถ้าหมู่หนึ่งหมู่ใดทำหน้าที่ย่อหย่อน เป็นอันตรายไป ก็อาจทำให้ทั้งชาติแตกสลายทำลายไปได้...” พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และอาสาสมัครพลเรือน ในพิธีตรวจพลสวนสนาม เนื่องในพระราชพิธีรัชดาภิเษก วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๑๔ “...ชาติของเรารักษาเอกราชอธิปไตยมาได้จนถึงทุกวันนี้ ก็ด้วยความสามัคคี คนไทยเราแต่ละคนรู้จักประโยชน์ส่วนรวมของชาติ รู้จักปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องและเกื้อกูลกัน ผลการปฏิบัติของเรานั้นจึงเกิดเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ ซึ่งสามารถกำจัดและป้องกันภัยต่างๆมิให้ทำอันตรายแก่เราได้ แม้จะมีศัตรูคิดร้าย บุกรุกคุกคามอย่างหนักหนาเพียงใด เราก็ยังไม่เพลี่ยงพล้ำ ขอให้ทุกคนสำนึกตระหนักว่า ความสมัครสมานสามัคคีของเรานั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะต้องรักษาไว้ให้ยั่งยืนตลอดไป หากเรามีความประมาท เราแตกสามัคคีกันเมื่อใด เราก็จะเป็นอันตรายย่อยยับลงเมื่อนั้น...” พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่ทหารรักษาพระองค์ในพิธีสวนสนาม เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๑๒ “...การทำความสงบนั้น ต้องเริ่มที่ภายในตัวในใจก่อน เมื่อภายในสงบ ความคิดจิตใจก็ตั้งมั่น สามารถคิดอ่านด้วยเหตุผล ความละเอียดที่รอบคอบ และสามารถค้นหา จำแนกข้อเท็จจริง ถูกผิด ดีชั่วได้โดยกระจ่างและถูกต้อง...” พระบรมราโชวาทพระราชทานไปอ่านในพิธีเปิดประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศครั้งที่ ๑๘ ณ สำนักงาน ก.พ. วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๐ “...การทำความดีนั้น โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจและความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยาก และเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ ความชั่วซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ทันรู้สึกตัว...” พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๒๙ “...การทำสิ่งที่ดีงามนั้น ไม่ใช่ของที่พ้นสมัยหรือน่ากระดากอาย หากเป็นของที่ทุกคนทำได้ไม่ยาก และให้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า เพราะความดีนั้นทรงค่าและทรงผลดีอยู่ตลอดกาล มิได้เปลี่ยนแปลง มีแต่ค่านิยมในความดีเท่านั้น ที่เปลี่ยนแปลงไป...” พระราชดำรัสพระราชทานเพื่ออ่านในพิธีเปิดการประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศ ณ วิทยาลัยครูนครปฐม วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๑๖ “...ผู้ที่มีความสุจริตและบริสุทธิ์ใจ แม้จะมีความรู้น้อย ก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้มากกว่าผู้มีความรู้มาก แต่ไม่มีความสุจริต ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ...” พระราชดำรัสในโอกาสที่ผู้อำนวยการและอาจารย์ใหญ่โรงเรียนในเขตดุสิต “กลุ่มจิตรลดา”เข้าเฝ้า ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๒๓ “...คนเราทุกคนมีความดีอยู่ในตัว แต่ถ้าไม่รู้จักใช้ความดีที่มีอยู่ในตัว ก็อาจจะไม่เป็นประโยชน์นัก แต่เมื่อฝึกความจริงใจแล้ว ก็จะเห็นความดีในตัว และเห็นความดีในคนอื่นด้วย ฉะนั้นความจริงใจนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก...” พระราชดำรัสในพิธีพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้านจังหวัดนครพนม ณ กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่๖ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๒ “...การงานทุกอย่างทุกอาชีพ ย่อมจะมีจรรยาบรรณของตนเอง จรรยาบรรณนั้นจะบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตาม แต่เป็นสิ่งที่ยึดถือกันว่าเป็นความดีงาม ที่คนในอาชีพนั้นพึงประพฤติปฏิบัติ หากผู้ใดล่วงละเมิดก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายทั้งแก่บุคคล หมู่คณะ และส่วนรวมได้ เหตุนี้ ผู้ปฏิบัติงานในทุกสาขาอาชีพ นอกจากจะต้องมีความรู้ในสาขาของตนอย่างลึกซึ้ง จัดเจน และศึกษาให้ก้าวหน้าอยู่เสมอแล้ว ยังจะต้องยึดมั่นจรรยาบรรณในวิชาชีพของตน ทั้งข้อที่ควรปฏิบัติ และไม่พึงปฏิบัติ อย่างเคร่งครัดด้วย...” พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐ “...การทำงานใดๆไม่ว่าเล็ก ใหญ่ ง่ายยาก ถ้าย่อหย่อนความเพียรแล้ว ยากที่จะให้สำเร็จเรียบร้อยทันเวลาได้ การฝึกฝนความเพียร ถึงหากแรกๆจะรู้สึกเหน็ดเหนื่อย ลำบาก แต่พอได้เพียรจนเป็นนิสัยแล้ว ก็จะกลับเป็นพลังอย่างสำคัญ ที่คอยกระตุ้นเตือนให้ทำงานอย่างจริงจัง ด้วยใจร่าเริง และเมื่อได้พลังของความเพียรนี้เกิดขึ้น เมื่อนั้น การงานทั้งหลายก็สำเร็จได้โดยง่ายดายและรวดเร็ว...” พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรนครินทรวิโรฒ วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๒๒๒ “...การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้...” พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๐๖ “...กิจการทุกอย่าง รวมทั้งการดำรงชีวิตที่ดี จะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา และการปรับปรุงตัวนี่จะต้องมีความเพียรและความอดทนเป็นที่ตั้ง ถ้าคนเราไม่มีความเพียร ไม่มีความอดทน ก็อาจจะท้อใจไปโดยง่าย เมื่อท้อใจไปแล้ว ไม่มีทางที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรือง...” พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะครูและนักเรียนโรงเรียนจิตรลดา วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๒๓ “...การดำเนินชีวิตโดยใช้วิชาการอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ จะต้องอาศัยความรู้รอบตัวและหลักศีลธรรมประกอบด้วย ผู้ที่มีความรู้ดีแต่ขาดความยั้งคิด นำความรู้ไปใช้ในทางที่มิชอบ ก็เท่ากับเป็นบุคคลที่เป็นภัยแก่สังคมของมนุษย์ ฉะนั้น ขอให้ทุกคนจงดำรงชีวิต และประกอบอาชีพโดยอาศัยวิชาความรู้ที่ได้รับมา ประกอบด้วยความยั้งคิดชั่งใจ และศีลธรรมอันดีงาม...” พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๐๔ “...งานพัฒนาบ้านเมืองนั้น ต้องอาศัยบุคคลสองประเภท คือ นักวิชาการกับผู้ปฏิบัติ นักวิชาการเป็นผู้วางโครงการ เป็นผู้นำ เป็นผู้ชี้ทาง เป็นที่ปรึกษาของผู้ปฏิบัติ ส่วนผู้ปฏิบัตินั้นเป็นผู้ลงแรงกระทำงาน งานจะได้ผลหรือไม่เพียงไร ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสองฝ่ายนี้ ถ้ามีความเข้าใจและร่วมงานกัน ก็ไม่มีอุปสรรค ได้ผลงานเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ถ้าหากไม่เข้าใจกัน ก็เกิดอุปสรรคล่าช้า ซึ่งมักปรากฏอยู่เสมอ และจำเป็นจะต้องแก้ไข...” พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๑๓ “...ความรู้กับดวงประทีปเปรียบกันได้หลายทาง ดวงประทีปเป็นไฟที่ส่องแสงเพื่อนำทางไป ถ้าใช้ไฟนี้ส่องในทางที่ถูก ก็จะไปถึงจุดหมายปลายทางได้โดยสะดวกเรียบร้อย แต่ถ้าไม่ระวังไฟนั้นอาจเผาผลาญให้บ้านช่องพินาศลงได้ ความรู้เป็นแสงสว่างที่จะนำเราไปสู่ความเจริญ ถ้าไม่ระวัดระวังในการใช้ความรู้ ก็จะเป็นอันตรายเช่นเดียวกัน จะทำลายเผาผลาญบ้านเมืองให้ล่มจมได้...” พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๐๕ “...การทำบุญนั้น ได้ผลตั้งแต่แรกที่ทำบุญ ตั้งแต่วาระแรกที่ทำ มีความเบิกบานใจ เมื่อเห็นความเบิกบานใจในผู้อื่น เราก็มีความเบิกบานใจเพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อเราทำบุญเป็นนิสัยแล้ว ก็สบายมากในการทำ เพราะว่าทำดีเป็นนิสัยนั้น ทำได้ง่าย แล้วจิตใจก็ยิ่งเบิกบานมากขึ้นทุกที...” พระราชดำรัสในโอกาสที่คณะบุคคลละลูกเสือชาวบ้านเข้าเฝ้าฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๒๐ “...ความเจริญของประเทศชาติเป็นความเจริญส่วนรวม ซึ่งเกิดจากผลงานหรือผลของการกระทำของคนทั้งชาติ ถือได้ว่า ทุกคนแบ่งหน้าที่กันทำประโยชน์ให้ชาติตามถนัดและความสามารถ และต่างคนต่างก็เกื้อกูลกันและกัน ไม่มีผู้ใดจะอยู่ได้และทำงานให้แก่ประเทศชาติได้โดยลำพังตนเอง...” พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๑๓ “...คนที่จะรักษาความเป็นไทยได้มั่นคงที่สุด ดีและเหมาะสมที่สุด ไม่มีใครอื่นนอกจากคนไทย เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอยู่ ณ แห่งใด คนไทยมีหน้าที่ต้องรักษาความเป็นไทยเสมอ ทั้งทางวัตถุ ทางจริยธรรม และภูมิปัญญา...” พระบรมราโชวาทพระราชทานสมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่น ในพระบรมราชูปถัมภ์ วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ “...ประเทศไทยเราอาจไม่เป็นประเทศที่รุ่งเรืองที่สุดในโลก หรือรวยที่สุดในโลก หรือฟู่ฟ่าที่สุดในโลก แต่ก็ขอให้เมืองไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคง มีความสงบได้ เพราะว่าในโลกนี้หายากแล้ว เราทำเป็นประเทศที่สงบ ประเทศที่มีคนที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันจริงๆ เราจะเป็นที่หนึ่งในโลกในข้อนี้ แล้วรู้สึกว่าที่หนึ่งในโลกนี้จะดีกว่าผู้อื่น จะดีกว่าคนที่รวยที่สุดในโลก จะดีกว่าคนที่เก่งในทางอะไรก็ตามที่สุดในโลก ถ้าเรามีความสงบ แล้วมีความสบาย ความมั่นคงที่สุดในโลกนั้น รู้สึกจะไม่มีใครสู้เราได้...” พระราชดำรัสในโอกาสที่คณะกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และนักเรียนทุนพระราชทาน เข้าเฝ้าฯถวายพระพรชัยมงคล ในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๓๙ “...ช่วยกันคิด คือหันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน เพราะว่าเป็นประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคน ต้องเข้าหากัน ไม่เผชิญหน้ากัน แก้ปัญหา เพราะว่าอันตรายมีอยู่เวลาคนเราเกิดความบ้าเลือด ปฏิบัติการรุนแรงต่อกัน มันลืมตัว ลงท้ายก็ไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่า จะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทางชนะ อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วก็ที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ ประชาชนจะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชนเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ถ้าสมมติว่ากรุงเทพมหานครเสียหาย ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองสิ่งสิ่งปรักหักพัง...” พระราชดำรัสเมื่อครั้งที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้า ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕ เวลา ๒๑.๓๐ น. “...คนไทยเรานั้น แท้จริงมีนิสัยจิตใจดี เป็นนักต่อสู้ เป็นคนซื่อตรง ขยันขันแข็งและอดทน เป็นคนรักเผ่าพันธุ์พวกพ้องและบ้านเกิดเมืองนอน แต่ละคนจะต้องหยิบยกเอาคุณสมบัติเหล่านี้ที่มีอยู่ในตัวขึ้นมาปฏิบัติให้ได้ผล โดยถือว่าทุกคนล้วนมีความสำคัญต่อประเทศชาติอยู่ด้วยกันทั้งนั้น...” กระแสพระราชดำรัสพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๓ “...ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้...” พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๑๒ นอกจากพระราชดำรัสและพระราโชวาทที่พระราชทานในโอกาสต่างๆนี้แล้ว ยังเห็นข้อคิดในการดำเนินชีวิตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ไม่ทราบว่าพระราชทานไว้ในโอกาสไหน แต่เห็นถูกอัญเชิญไปติดเตือนใจไว้ในสถานที่หลายแห่ง ทั้งสถานที่ราชการและเอกชน อย่างที่นั่งคนไข้รอตรวจชั้น ๕ ตึกสยามินทร์ โรงพยาบาลศิริราช บอกว่าเป็น “ของฝากจากในหลวง” มีข้อความที่น่าคิดอย่างมากคือ ๑. อย่าทำลายความหวังของใคร เพราะเขาอาจเหลืออยู่แค่นั้นก็ได้ ๒. เมื่อมีคนเล่าว่าตัวเขามีส่วนในเหตุการณ์สำคัญอะไรก็ตาม เราไม่ต้องไปคุยทับ ปล่อยเขาฟุ้งไป ตามสบาย ๓. รู้จักฟังให้ดี โอกาสทองบางทีมันก็มาถึงแบบแว่วๆ เท่านั้น ๔. หยุดอ่านคำอธิบายสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งอยู่ริมทางเสียบ้าง ๕. จะคิดการใด จงคิดการให้ใหญ่ ๆเข้าไว้ แต่เติมความสนุกสนานลงไปด้วยเล็กน้อย ๖. หัดทำสิ่งดี ๆให้กับผู้อื่นจนเป็นนิสัย โดยไม่จำเป็นต้องให้เขารับรู้ ๗. จำไว้ว่าข่าวทุกชนิดล้วนถูกบิดเบือนมาแล้วทั้งนั้น ๘. เรื่องเล่นเกมกับเด็ก ๆ ก็ปล่อยให้แกชนะไปเถิด ๙. ใครจะวิจารณ์เราอย่างไรก็ช่าง ไม่ต้องไปเสียเวลาโต้ตอบ ๑๐. ให้โอกาสผู้อื่นเป็นครั้งที่”สอง” แต่อย่าให้ถึง“สาม” ๑๑. อย่าวิจารณ์นายจ้าง ถ้าทำงานกับเขาแล้วไม่มีความสุข ก็ลาออกซะ ๑๒. ทำตัวให้สบายอย่าคิดมากถ้าไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย อะไร ๆ มันก็ไม่ได้สำคัญอย่างที่คิด ไว้ทีแรกหรอก ๑๓. ใช้เวลาน้อย ๆในการคิดว่า “ใคร” เป็นคนถูก แต่ใช้เวลาให้มากในการคิดว่า “อะไร” คือสิ่งที่ ถูก ๑๔. เราไม่ได้ต่อสู้กับ “คนโหดร้าย” แต่เราต่อสู้กับ “ความโหดร้าย”ในตัวคน ๑๕. คิดให้รอบคอบ ก่อนที่จะให้เพื่อนต้องมีภาระในการรักษาความลับ ๑๖. เมื่อมีใครมาสวมกอดคุณ ให้เขาเป็นฝ่ายปล่อยก่อน ๑๗. เป็นคนถ่อมตัว คนเขาทำอะไรต่ออะไรสำเร็จกันมามากมาย ตั้งแต่เรายังไม่เกิด ๑๘. ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์อันเลวร้ายเพียงใด...สุขุมเยือกเย็นเข้าไว้ ๑๙. อย่าไปหวังเลยว่า ชีวิตนี้จะมีความยุติธรรม ๒๐. อย่าให้ปัญหาของเราทำให้คนอื่นเขาเบื่อหน่าย ถ้ามีใครมาถามเราว่า “เป็นยังไงบ้างตอนนี้” ก็บอกเขาไปเลยว่า “สบายมาก” ๒๑. อย่าพูดว่ามีเวลาไม่พอ เพราะเวลาที่คุณมี มันก็วันละยี่สิบสี่ชั่วโมงเท่าๆ กับที่หลุยส์ ปาสเตอร์ ไมเคิลแอนเจลโล แม่ชีเทราซา ลีโอนาร์โด ดาวินชี ทอมัส เจฟเฟอร์สัน หรือ อัลเบิร์ดไอน์สไตน์ เขามีนั่นเอง ๒๒. เป็นคนใจกล้าและเด็ดเดี่ยว เมื่อเหลียวกลับไปดูอดีต เราจะเสียใจในสิ่งที่อยากทำแล้วไม่ได้ทำ มากกว่าเสียใจในสิ่งที่ทำไปแล้ว ๒๓. ประเมินตนเองด้วยมาตรฐานของตัวเอง ไม่ใช่ด้วยมาตรฐานของคนอื่น ๒๔. จริงจังและเคี่ยวเข็ญต่อตนเอง แต่อ่อนโยนและผ่อนปรนต่อผู้อื่น ๒๕. อย่าระดมสมอง เพราะไอเดียดีๆใหม่ๆ และยิ่งใหญ่จนสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ ล้วนมาจากบุคคลที่คิดค้นอยู่แต่เพียงผู้เดียวทั้งสิ้น ๒๖. คงไว้ซึ่งความเป็นคนเปิดเผย อ่อนโยน และอยากรู้อยากเห็น ๒๗. ให้ความนับถือแก่ทุกคนที่ทำงานเพื่อเลี้ยงชีพ ไม่ว่างานที่เขาทำนั้นจะกระจอกงอกง่อยสักปานใด ๒๘. คำนึงถึงการมีชีวิตให้ “กว้างขวาง” มากกว่าการมีชีวิตให้ “ยืนยาว” ๒๙. มีมารยาทและอดทนกับคนที่สูงวัยกว่าเสมอ ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป LINE it!

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้