ไขปริศนา........... นำเข้าเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2560 โดย จุฬา ศรีบุตตะ อ่าน [58498]
.....
นักวิทย์พบร่างของลูกนกยุคครีเทเชียสที่ถูกเก็บรักษาทุกรายละเอียดไว้อย่างดี ในชิ้นส่วนอำพันเมียนมา ทั้งยังมีลักษณะขนที่แปลกตาอีกด้วย
ซากดึกดำบรรพ์ในก้อนอำพัน ที่ได้จากการขุดออกมาภายในเหมืองแห่งหนึ่งทางตอนเหนือเมียนมา คาดว่ามีอายุราว 98 ล้านปี และถือเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์ที่สุด เป็นกลุ่มนกมีฟันที่สูญพันธุ์ไปแล้วเมื่อปลายยุคครีเทเชียส (ราว 145-65.5 ล้านปีก่อน) ชื่อว่า เอนานทีออร์นิธอินีส (enantiornithines)
ลูกนกอายุเกือบ 100 ล้านปี มีขนาดยาวราว 6 ซม. ตั้งแต่ปลายจะงอยปากจนถึงปลายสุดของหาง สัดส่วนร่างกายและการพัฒนาของขนในซากสัตว์ชนิดนี้ชี้ให้เห็นว่าเป็นสัตว์อายุน้อยมาก ขณะที่รายละเอียดโครงสร้างขนไก่และการกระจายตัว บ่งบอกถึงความแตกต่างอันสำคัญระหว่างสัตว์ปีกโบราณและนกในยุคปัจจุบัน
แม้นักวิทยาศาสตร์เคยพบตัวอย่างนกในกลุ่มนี้ภายในอำพันมาก่อน แต่การค้นพบครั้งใหม่นี้ทำให้เห็นลักษณะขนที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น ช่องหู เปลือกตา และผิวหนังบริเวณเท้า
ทว่าชิ้นส่วนอำพันดังกล่าว ที่มีขนาดยาว 8.6 ซม. กว้าง 3 ซม. และหนา 5.7 ซม. ถูกแบ่งแยกตรงกลางเป็น 2 ส่วน นับว่าโชคไม่ดีที่กะโหลกสัตว์ถูกตัดออกไป ส่งผลให้กระดูกบางส่วนได้รับความเสียหาย เหลือเพียงจะงอย กระดูกหุ้มสมองและหุ้มคอจนไปถึงส่วนอื่นๆ ตลอดจนปีก เท้า หาง เนื้อเยื่ออ่อนและขนเอาไว้ในก้อนอำพันเท่านั้น
จิงไม โอคอนเนอร์ ศาสตราจารย์จากสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลัง สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์จึงใช้เครื่องไมโคร-ซีที สแกนและจำลองภาพดิจิทัล 3 มิติ เพื่อวิเคราะห์ซากสัตว์ ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลาเกือบ 1 ปีจนเสร็จสมบูรณ์
งานวิจัยระบุว่า ลูกนกตัวนี้อยู่ระหว่างการผลัดขนครั้งแรก ในขณะที่ตัวไปติดกับยางไม้อันเหนียวเหนอะหนะ เพราะมีเพียงขนบางๆ ปกคลุมบนร่างของมัน ขณะที่ปีกเต็มไปด้วยขนหมดแล้ว
โอคอนเนอร์ระบุว่า เมื่อกล่าวถึงนก การเก็บรักษาขนนกแบบพิเศษภายในฟอสซิล ช่วยให้นักบรรพชีวินวิทยาเข้าใจถึงความหลากหลายของขนนกและบทบาทที่มีต่อสัตว์ปีกอายุน้อย
เราอาจทำความเข้าใจกับขนนกในฟอสซิลปกติทั่วไปไม่ได้ แต่ในอำพัน เราเห็นภาพของขนนกในยุคโบราณได้อย่างชัดเจน และเห็นทุกรูปแบบที่แปลกออกไป โอคอนเนอร์ กล่าว
|