คนจะตาย...คนอยู่หนาว
นำเข้าเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2560 โดย จุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58698]  

.....

 

จะงานเล็กงานใหญ่ ค่าใช้จ่ายก็ไม่ใช่เล็กๆ เมื่อญาติผู้ตายในปัจจุบันต้องพบกับภาระค่าใช้จ่ายงานศพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนประเด็นเรื่องค่าจัดงานศพกลายเป็นข้อถกเถียงกันในโลกโซเชียลว่า คุ้มไหม? หรือ ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำรึเปล่า? แล้วจะไม่จัดหลายวันได้ไหม? เพื่อประหยัดงบ หรือต้องจัดให้สมฐานะและทุ่มเต็มที่เพื่อดวงวิญญาณที่พลัดพราก โดยทางผู้จัดการ Live ได้สอบถามข้อมูลไปทางวัดและอ้างอิงข้อมูลจาก thaipublica.org พบว่าค่าใช้จ่ายการจัดงานศพของวัดใหญ่ในเมืองกรุงนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของญาติผู้เสียชีวิตเป็นหลัก 
 

คนจะตายหดหู่...คนที่อยู่ก็หนาว เจอค่างานศพกระอัก!

วัดเทพศิรินทร์

        จ่ายคุ้มแพกเกจเดียวกับวัดใหญ่ใจกลางกรุง
       
       ค่าจัดงานศพในวัดดังๆ ใจกลางกรุง หรือวัดประจำต่างจังหวัด จะมีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ในแพกเกจ ให้ญาติผู้ตายได้เลือกสรร ไม่ต่างจากแพกเกจงานบวช งานบุญ โดยมีให้เลือกตามความสะดวกและสมฐานะของผู้ตาย เพียงแค่ญาตินำใบมรณบัตรมาแจ้งกับฌาปนสถานของวัด ก็ดำเนินพิธีกรรมทางศาสนาได้แล้ว ที่เหลือก็แค่เลือกรายการที่วัดมีโบรชัวร์ หรือสมุดภาพถ่ายของสินค้าและราคาให้ดู
       
       การเลือกวัดในงานสวดอภิธรรมและเผาศพ จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ ด้าน แต่ส่วนใหญ่จะเริ่มจากการเดินทางสะดวก มีที่จอดรถ มีศาลาบำเพ็ญกุศลที่รองรับแขกที่จะมาร่วมงานได้ และมีเมรุเผาศพอยู่ในวัด ซึ่งเดี่ยวนี้ศาลาที่ใช้ในการตั้งสวดศพ ก็จะมีให้เลือกหลายขนาด และมีทั้งแบบพัดลมธรรมดา และศาลาติดแอร์ 
 

คนจะตายหดหู่...คนที่อยู่ก็หนาว เจอค่างานศพกระอัก!

วัดตรีทศเทพ

        โดยเริ่มตั้งแต่ การจับจองศาลาเพื่อตั้งศพบำเพ็ญกุศล ซึ่งในอดีตคนส่วนใหญ่จะตั้งศพไว้ที่บ้าน แต่ปัจจุบันนิยมนำศพมาทำพิธีที่วัด เพื่อความสะดวกของทั้งเจ้าภาพและผู้ที่มาร่วมงาน โดยค่าใช้จ่ายสำหรับพื้นที่สวดอภิธรรมของวัดในเมืองหลวงจะมีราคาสูงกว่าวัดต่างจังหวัด
       
       นอกจากค่าศาลาแล้ว ในแพกเกจยังรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าบำรุงเมรุ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเจ้าหน้าที่ ค่าของถวายพระ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าหีบศพเทพนม ค่าดอกไม้หน้าหีบศพ และค่าอาหารเลี้ยงแขก โดยสนนราคาค่าใช้จ่ายแล้ว จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาการสวดอภิธรรมและเผาศพ ขนาดของวัด และพิธีกรรมเพิ่มเติมเช่น งานศพพระราชทาน เป็นต้น โดยราคาแพกเกจล่าสุด ที่ thaipublica.org ได้ระบุไว้ สำหรับแพกเกจล่าสุดของวัดดังกลางกรุง โดยเริ่มต้นที่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน 
 

คนจะตายหดหู่...คนที่อยู่ก็หนาว เจอค่างานศพกระอัก!

วัดหัวลำโพง

        แจงค่าใช้จ่ายงานศพ ทุกอย่างในวัดคือธุรกิจ
       
       ในแพกเกจเฉียดแสนนั้น มีค่าใช้จ่ายจิปาถะที่ญาติผู้ตายควรรู้ ยกตัวอย่างวัดหัวลำโพงซึ่งมีค่าแพคเกจที่ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของญาติผู้ตาย เริ่มตั้งแต่ค่าศาลาวันละ 800-2,000 บาท ค่าน้ำมันเผาศพ 4,000 บาท ค่าเมรุเผาศพ 1,000 บาท ค่าน้ำ ค่าไฟ (วันเผา) 2,000 บาท ค่าเจ้าหน้าที่วันละ 440 บาท และค่าของถวายพระคืนละ 1,000-2,000 บาท ฯลฯ
       
       ค่าหีบศพ ขึ้นอยู่กับญาติผู้ตายจะเลือก โดยค่าหีบศพข้างในบุนวมราคาจะเริ่มต้นตั้งแต่ 2,300 - 5,500บาท ขึ้นไป ส่วนดอกไม้ที่ประดับหีบศพนั้น ราคาเริ่มต้นที่ 4,200 -20,000 บาท หากเป็นดอกไม้ประดับโกศพระราชทานราคาเริ่มต้นที่ 2,500 บาท และต้องใช้ 2 ชุด คือหน้าหีบศพและหน้าเมรุ
       
       ค่าอาหาร ของว่างเลี้ยงแขก ขึ้นอยู่กับทางเจ้าภาพว่าจะเลือกแบบไหน โดยในวัดดังๆ จะเลือกใช้อาหารและเครื่องดื่มของบริษัทรับจัดเลี้ยง เช่น สวนดุสิตโฮม เอสแอนด์ พี หรือการบินไทย โดยมีเมนูให้เลือกพร้อมบริการ จาน ช้อน ส้อม ราคาเริ่มต้นที่ 2,000- 4,000 บาท
       
       ค่าบริการฝากศพ / สุสาน ส่วนใหญ่จะฝากไว้ 100 วัน แล้วถึงเผา
       
       ค่าใช้จ่ายบริการลอยอัฐิ เริ่มต้นที่ 4,500 บาท
       
       นอกจากค่าใช้จ่ายในแพกเกจเหล่านี้แล้ว ยังมีบริการเสริมอื่น เช่น บริการถ่ายภาพและวิดีโอ บริการลอยอังคาร จอมอนิเตอร์ และของชำร่วย โดยเจ้าภาพสามารถเลือกสรรได้ตามงบประมาณที่ตั้งไว้ 
 

คนจะตายหดหู่...คนที่อยู่ก็หนาว เจอค่างานศพกระอัก!

วัดเสมียนนารี

        สุดช็อก ค่าจัดงานศพต่างจังหวัด แพงระยับกว่าวัดในกรุง
       

 


       ใครว่างานศพต่างจังหวัดจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าวัดในกรุง เพราะที่นั่นไม่ได้มีแพกเกจให้เลือกเหมือนวัดที่มีชื่อเสียง ลูกๆ หลานๆ จึงต้องเป็นคนสรรหาและทำพิธีต่างๆ เอง ยิ่งงานนั้นเป็นงานใหญ่ ที่ต้องมีแขกผู้ใหญ่ มีพิธีรีตรองมาก ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดปะรัมพิธี ค่าตกแต่งสถานที่ ค่าดอกไม้ หรือแม้แต่การต้องจ้างวงมหรสพมาจัดแสดง ซึ่งล้วนแต่เป็นค่าใช้จ่ายที่ญาติผู้ตายต้องแบกภาระ นอกจากนั้นยังมีค่าใช้จ่ายที่ชาวบ้านเรียกว่า ค่าหน้าตาของลูกหลานตามฐานะทางสังคม จึงต้องมีการบริจาคให้องค์กรการกุศลของหมู่บ้าน บริจาคให้โรงเรียน หรือหน่วยงานของชุมชนต่างๆ
       
       ที่สำคัญ งานศพต่างจังหวัด โดยเฉพาะในชุมชนเล็กๆ ที่ต้องไหว้วานชาวบ้านมาช่วยเตรียมสำรับกับข้าวนั้น เรื่องอาหารก็ต้องไม่ให้ขาดตกบกพร่อง บางบ้านต้องล้มหมู ล้มวัวเป็นตัวๆ ยังไม่พอ เพราะชาวบ้านจิตอาสาจะขอห่อใส่ถุงไปอิ่มต่อที่บ้าน เมื่อเทียบกับต้นทุนอาหารกล่องของวัดในเมืองแค่มื้อเดียว ค่าใช้จ่ายงานศพในต่างจังหวัดจึงห่างกันลิบลับ
       
       แถมระยะเวลาของการจัดงานศพก็ต้องให้สมน้ำสมเนื้อ หากจัดน้อยวันก็จะถูกคำครหาจากชาวบ้าน ส่วนใหญ่จึงจะใช้เวลาจัดงานศพ 5 วัน เป็นอย่างน้อย ซึ่งสนนราคาค่าอาหารตลอด 5 วัน รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ บางงานศพมียอดค่าใช้จ่ายทะลุ 300,000 บาท
       
       ตัวอย่างล่าสุด คืองานศพของคุณยายมารศรี ณ บางช้าง อดีตดาราดัง ที่เสียชีวิตด้วยโรคชรา โดยเบื้องต้นลูกหลานจะจัดงานเผาศพในวันที่คุณยายเสียชีวิต คือช่วงบ่ายของวันที่ 23 ธันวาคม 2559 โดยจะไม่มีการสวดอภิธรรมศพ โดยอ้างคำพูดของคุณแม่ที่ไม่อยากรบกวนลูกหลาน จนถูกคนในโลกโซเชียลรุมกระหน่ำ บางคนถึงกับกล่าวหาว่าเป็นศพอนาถา จนลูกหลานเนื้อเต้นต้องออกมาแก้ข่าว และเลื่อนจัดงานศพไปจนถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2559 
 

คนจะตายหดหู่...คนที่อยู่ก็หนาว เจอค่างานศพกระอัก!

วัดมกุฏกษัตริย์

        รู้ไว้ใช่ว่า จัดงานศพให้งบไม่บาน...
       
       หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ พระเกจิชื่อดัง ได้กล่าวถึงงานศพของคนไทยไว้ใน bhikkhupanyananda.org อย่างน่าสนใจว่า “งานศพเมืองไทยสิ้นเปลืองมากที่สุดในโลก มีคนกลุ่มหนึ่ง เขาไปหาข้อมูล เรียกว่าไปสำรวจตามวัดต่างๆ ตามงานศพ คุยกับคนทำศพ ปรากฏว่าสิ้นเปลืองมาก ทำศพแบบไทยสิ้นเปลืองมาก”....
       
       โดยบางตอน หลวงพ่อได้ไขความกระจ่าง เรื่องการสวดอภิธรรมศพไว้ว่า จุดหมายของการสวดคือต้องการพูดกับคนเป็น เพราะคนตายมันหมดทุกข์แล้ว ตายแล้วไม่ทุกข์ นอนนิ่งเฉย ใครทำอะไรก็ไม่ว่าอะไร หมดเรื่องกัน แต่คนเป็นมีความกลุ้มใจ เพราะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ก็ย่อมมีความทุกข์ มีปัญหาขึ้นในชีวิต พระไปช่วยเทศน์ช่วยแสดงธรรม ให้คนนั้นได้รู้ความจริงของชีวิต ได้เอาธรรมะไปเป็นหลักกลั่นกรองทางจิตใจ จะได้เกิดความเข้าใจว่า อ้อ ธรรมดาสิ่งทั้งหลายมีเกิดก็ต้องมีตาย ก็จะได้คลายจากความทุกข์ความเดือดร้อนไป นี่คือจุดหมายที่ต้องการ 
 

คนจะตายหดหู่...คนที่อยู่ก็หนาว เจอค่างานศพกระอัก!

วัดพระศรีมหาธาตุ

        “เมื่อเรารู้จุดหมายแล้ว สิ่งที่ไม่เข้าเป้าก็ต้องลิดทิ้งออกไปเสียบ้าง เอาแต่เนื้อๆ สมมติว่ามีการทำศพ แล้วไม่สวด โยมอย่าไปตกใจว่า ไม่ได้สวดให้คุณแม่ มันไม่จำเป็นอะไรที่จะต้องสวด แต่ที่สวดอยู่นั้น เพื่อเอาใจโยมเท่านั้นเอง ไม่ให้โศกเศร้าใจ เป็นทุกข์มากเกินไป เพราะยังไม่ได้ทำความเข้าใจกันในเรื่องนี้ แต่เมื่อได้ทำความเข้าใจกันแล้ว อาจจะไม่สวดเลยก็ได้ มีเฉพาะแต่การแสดงธรรมก็ได้ นี่ขอให้เข้าใจอย่างนี้ ว่าการสวดนั้น ไม่ใช่สวดศพสวดผี แต่เป็นการทำกิจกรรมเพื่อให้ตนเป็นผู้เข้าใจธรรมะ ได้นำธรรมะไปเป็นหลักประเล้าประโลมไจ ให้คลายจากความทุกข์ความเดือดร้อนใจ นั่นคือความถูกต้อง นี่ตัวอย่างเรื่องหนึ่ง”
       
       เมื่อรู้ว่า งานสวดศพ ทำไว้เพื่อให้ลูกหลานฟัง ก็ไม่จำเป็นจะต้องจัดถึง 5 วัน 7 วัน ขอแค่เรามีสติและจัดพิธีพอประมาณ ให้คนเป็นอย่างเราไม่เดือดร้อนเพราะคนตายก็พอ 

 

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้