‘ยาพิษ’ ‘คนเมือง’
นำเข้าเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2559 โดย จุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58488]  

.....

                         เมื่อ‘ความหวาน’คือ‘ยาพิษ’ ‘คนเมือง’กับเครื่องดื่มสุดเสี่ยง “14 พฤศจิกายน” ของทุกปี องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้เป็น “วันเบาหวานโลก” เพื่อกระตุ้นเตือนพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ ทั้งนี้ข้อมูลจาก สหพันธ์เบาหวานนานาชาติ (IDF) พบว่า ในปี 2558 มีผู้ป่วยเบาหวานอยู่ที่ 415 ล้านคน โดย “มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานเฉลี่ยทุกๆ 6 วินาที” และประชากร 1 ใน 11 คน ป่วยเป็นเบาหวานโดยไม่รู้ตัว

                         ซึ่งคาดว่าในปี 2588 หรืออีก 30 ปีข้างหน้าจะมีผู้ป่วยเบาหวานถึง 642 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 227 ล้านคน ขณะที่ผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทย จากผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ ครั้งที่ 5 ระหว่างปี 2557-2558 ด้วยการสุ่มตรวจสุขภาพประชากรไทย 21 จังหวัด รวม 19,468 คน จากนั้นนำมาคำนวณ

                            พบว่า “ปัจจุบันมีคนไทยที่ป่วยเป็นเบาหวานถึง 4 ล้านคน” ที่น่าเป็นห่วงคือพบกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานโดยไม่รู้ตัวอีกถึง 7.7 ล้านคน ซึ่งคนในกลุ่มหลังหมายถึง ร้อยละ 5-10 ต่อปี จะเป็นเบาหวานหากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพ ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคเบาหวานส่วนใหญ่ล้วนมาจาก “พฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิต” ทำให้พบแนวโน้มผู้ป่วยโรคเบาหวานตั้งแต่อายุยังน้อย ศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ โครงการเด็กไทยดูดี มีพลานามัย ภายใต้แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. เผยว่า

                         สาเหตุของโรคอ้วน ซึ่งเป็นที่มาของกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDห) อันได้แก่ เบาหวาน ความดัน เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ พันธุกรรม ฐานะทางเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อมซึ่งหมายถึงพฤติกรรมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีพลังงานสูง น้ำตาลสูง ไขมันสูง บริโภคผักผลไม้น้อย และวิถีการดำเนินชีวิต ในจำนวนนี้ “พฤติกรรมการบริโภค” มีผลต่อความเสี่ยงค่อนข้างมาก เห็นได้จาก “ปริมาณน้ำตาลที่ควรบริโภคต่อวัน ไม่ควรเกิน 4-8 ช้อนชาต่อวัน สำหรับผู้ที่ต้องการพลังงานระหว่าง 1,600-2,400 กิโลแคลลอรีต่อวัน แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลเกินกว่าปริมาณที่ควรได้รับ 4-7 เท่าตัว”

                            โดยข้อมูลที่คำนวณจากรายงานการบริโภคน้ำตาลของคนไทย ปี 2557 พบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยถึง 28 ช้อนชาต่อคนต่อวัน ซึ่งแหล่งที่มาของการบริโภคน้ำตาลล้นความต้องการของร่างกายส่วนใหญ่มาจากเครื่องดื่มนานาชนิดนั่นเอง ผลการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มหวานจากผลการวิจัยบนถนนสายเศรษฐกิจ จากการสำรวจปริมาณน้ำตาลของร้านขายเครื่องดื่มบริเวณมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตพญาไท ถนนราชวิถีรอบบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และถนนสีลม “พื้นที่ชีวิตของคนกรุงเทพฯ”

                              โดยโครงการเด็กไทยดูดี มีพลานามัย เพื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม 1 แก้ว ปริมาณ 250 มล. จากตัวอย่างร้านค้า 62 ร้านค้า โดยเก็บตัวอย่างเมนูยอดนิยม 1 ใน 5 อันดับ และเครื่องดื่มที่มาจากร้านที่ให้ความร่วมมือในการวิจัย รวม 270 ตัวอย่าง ผลการสำรวจพบว่า เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ 1.แดงโซดา ปริมาณน้ำตาล 15.5 ช้อนชา 2.โอวัลติน 13.3 ช้อนชา 3.ชามะนาว 12.6 ช้อนชา 4.ชาดำเย็น 12.5 ช้อนชา และ 5. นมเย็น 12.3 ช้อนชา ส่วนชาเย็น กาแฟเย็น ชาเขียวเย็น มีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ย 11 ช้อนชา และโกโก้มีปริมาณน้ำตาล 10.8 ช้อนชา

                       โดยเครื่องดื่มบริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมีปริมาณน้ำตาลมากที่สุด รองลงมาคือวิทยาเขตพญาไท และถนนสีลม ตามลำดับ ซึ่งมาจากความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และความนิยมของบุคคล “ผลการศึกษาครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าองค์การอนามัยโลกแนะนำไม่ควรบริโภคน้ำตาลจากอาหารทุกชนิดเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน แต่จากผลการสำรวจปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มย่านการค้าและใจกลางเมืองกลับพบว่า เพียงบริโภคเครื่องดื่มหวาน 1 แก้ว หรือ 250 มล. ก็มีปริมาณน้ำตาลที่เกินความต้องการที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน

                     นอกจากนี้จากเดิมที่คาดว่า เครื่องดื่มประเภทขุ่นที่มีส่วนผสมของนม นมข้นหวานหรือครีมเทียมจะมีปริมาณน้ำตาลมากกว่า แต่กลับพบว่า เครื่องดื่มประเภทใสกลับมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่า ซึ่งอาจเนื่องจากชามะนาวที่รสเปรี้ยวของมะนาว ทำให้ต้องเพิ่มความหวานมากขึ้น” ศ.พญ.ชุติมา กล่าว ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สสส. ชี้ว่า พฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มหวานบนถนนสายเศรษฐกิจ สะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนวัยทำงานและนักศึกษา ซึ่งถือเป็นแรงงานที่สำคัญของประเทศ จึงเป็นตัวชี้วัดถึงสัญญาณอันตรายโดยไม่รู้ตัว เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีสารอาหารน้อย มีแต่น้ำตาลและไขมันในปริมาณสูง

                        ซึ่งเป็นรากของปัญหา NCDs ทั้งเบาหวาน ความดัน หากไม่ทำความเข้าใจกับกลุ่มนักศึกษาและวัยทำงานเราจะได้คนในประเทศที่มีปัญหาสุขภาพในระยะยาว “จากผลการศึกษาจะพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วปริมาณเครื่องดื่มหวานเพียง 1 แก้ว จะมีปริมาณน้ำตาลที่มากกว่าปริมาณที่ร่างกายควรได้รับ ซึ่งการดื่มน้ำหวานจะดูดซึมได้เร็วมากกว่าการกินอาหารหรือขนม เพราะเหมือนเป็นการกระหน่ำน้ำตาลในร่างกายทำให้ตับอ่อนทำงานอย่างหนัก ด้วยการผลิตอินซูลินเข้ามาจัดการเพื่อปรับระดับน้ำตาลในเลือด คนจึงเป็นเบาหวานตั้งแต่อายุยังน้อยมากขึ้น”

                           ทพญ.ปิยะดา ระบุ ผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สสส. ย้ำอีกว่า การปรับพฤติกรรมการบริโภคไม่สามารถใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมได้ แผนงานอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. จึงได้ทำงานร่วมกับกลุ่มองค์กร โรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งอาหารว่างสุขภาพในองค์กรภาครัฐและเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อสร้างค่านิยมและความเคยชินในองค์กร การสนับสนุนให้มีโรงอาหารทางเลือกให้มีเครื่องดื่มชงลดความหวาน นอกจากนี้ในโรงเรียนระดับประถมศึกษาได้เพิ่มมาตรการขนมเพื่อลดภาวะอ้วน เพื่อฉายภาพให้เห็นว่าสามารถทำได้ในทางปฏิบัติ ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับพฤติกรรมไปในตัว!!!

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้