"เรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร" นำเข้าเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2559 โดย จุฬา ศรีบุตตะ อ่าน [58492]
..... หากพูดกันตามศัพท์แสงในสังคมโซเชียลฯยุคปัจจุบันก็ต้องบอกว่า "เรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร" สำหรับการเมืองในสหรัฐอเมริกาที่ว่ากันว่าเละเทะวุ่นวายมากที่สุด และหลายฝ่ายยังเชื่อว่าความปั่นป่วนวุ่นวายยังคงมีอยู่ต่อไปไม่ว่าผู้สมัครจากพรรคการเมืองใด นั่นคือ โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน หรือ ฮิลารี คลินตัน จากเดโมแครต จะชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธาธิบดีก็ตาม การเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน นับเป็นการเลือกตั้งที่ถูกชาวโลกเฝ้ามองด้วยความรู้สึกหลายประเภท นั่นคือทั้งลุ้นว่าฝ่ายไหนจะชนะการเลือกตั้ง ใครจะได้เป็นประธานาธิบดี ขณะที่คนอีกไม่น้อยมองดูด้วย"ความสมเพช"พร้อมกับตั้งคำถามว่าทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ไปได้ ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันไม่ว่าใครก็ตามที่แม้ว่าจะตั้งใจสนใจการเมืองของสหรัฐอเมริกาหรือไม่ก็ตาม คงไม่เคยปรากฏการณ์แบบนี้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้สมัครคู่แข่งขันกันเป็นประธานาธิบดีจากทั้งสองพรรคที่มีแต่เสียง"ยี้"ทั้งจากคนอเมริกันและจากคนทั่วโลก
แม้ว่าในสมัยก่อนในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งจะมีการขุดคุ้ยเรื่องอื้อฉาวมาดิสเครดิตฝ่ายตรงข้ามซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่ครั้งนี้มันมีมากมายจนเรียกว่าสร้างความ"ด่างพร้อย"แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ระหว่างการหาเสียงก็มีเหตุวุ่นวาย มีประท้วง บางครั้งถึงขั้นจลาจลย่อมๆ และเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาจนถึงวันหย่อนบัตรลงหีบเลือกตั้ง มีทั้งก่อเหตุยิงกันจนมีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บ หรือการประท้วงผู้สมัครด้วยวิธีการแปลกๆมีอยู่ตลอดเวลา นี่ยังไม่นับกรณีที่มีเค้าลางว่าจะเกิดเหตุวุ่นวายตามมาหากผลการนับคะแนนแล้ว โดนัลด์ ทรัมป์ พ่ายแพ้ เพราะเขาประกาศเอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่า"มีการโกงการเลือกตั้ง"และมีแนวโน้มเป็นไปได้เหมือนกันว่าเขาจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันอีกด้าหนึ่งหาก โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งมันก็จะวุ่นวายกันกันเหมือนกัน จึงทำให้เป็นที่จับตาอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ดีสำหรับผลการนับคะแนนก็คงทราบผลกันไปแล้วแม้ว่าคะแนนจะพลิกไปพลิกมากันในช่วงแรกๆ
แต่ในที่สุดก็ต้องรู้ว่าใครคือผู้ชนะการเลือกตั้ง ล่าสุดมีรายงานว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งโดยได้คะแนน"ผู้เลือกตั้ง"เหนือ ฮีลารี คลินตัน 277 ต่อ 218 เสียง ที่บอกว่าการเมืองสหรัฐฯมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ในความหมายไปในทางลบ เพราะเชื่อว่าใครที่ติดการเมืองและการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ยังไม่เคยเห็นบรรยากาศแบบนี้มาก่อน ภาพความวุ่นวาย ความศรัทธาที่มีต่อผู้สมัครคู่แข่งขันกันทั้งสองพรรคก็ไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน ขณะเดียวกันในสายตาของชาวโลก "ภาพของมหาอำนาจ"ที่เคยกำหนดความเป็นไปของโลกก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากที่เคยยิ่งใหญ่คับโลก มาบัดนี้ก็มีมหาอำนาจหน้าใหม่เบียดขึ้นมาทาบรัศมี ไม่ว่าจะเป็นการหวนกลับมาของรัสเซีย และที่มาแรงที่สุดก็คือ จีน และที่สำคัญมหามิตรที่เคยกอดคอกันมากลับหันหลังให้หน้าตาเฉย ที่เห็นได้ชัดก็คือ
ฟิลิปปินส์ในยุคปัจจุบัน อย่างไรก็ดีความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือสถานะทางเศรษฐกิจของตัวเองอยู่ในภาวะยอบแยบเต็มที ประเทศเต็มไปด้วยหนี้สินรุงรัง สภาพสังคมที่เริ่มแตกแยกมากขึ้นทุกที สิ่งเหล่านี้กำลังกลายเป็นปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศที่ใช้ระบอบ"ทุนนิยม"เต็มขั้น ประเทศที่เคยใช้"ประชาธิปไตย"ด้วยการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือนำหน้าในการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นมาตลอดเวลา ทั้งที่เบื้องหลังล้วนเป็นเรื่อง"ผลประโยชน์"อันน่ารังเกียจของกลุ่มทุนที่กำลังทิศทางการเมืองภายในทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองไหนขึ้นมาสลับสับเปลี่ยนปกครอง สำหรับประเทศไทยในยุคนี้หากสังเกตให้ดีจะพบว่าอาจเป็นครั้งแรกที่คนไทยไม่ค่อยให้ความสนใจกับการเลือกตั้งสหรัฐมากมายนัก เพราะเชื่อว่าไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับเรามากนัก ยกเว้นบรรดาสื่อมวลชนที่ยังเกาะติดกับผลการเลือกตั้งเท่านั้น
ขณะเดียวกันคนไทยก็ไม่ได้ตื่นเต้นอะไรนักกับผลการเลือกตั้ง เพราะไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีก็มีผลกับไทยน้อยมาก อย่างไรก็ดีในอนาคตในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างระหว่างประเทศโดยรวมๆบรรยากาศก็น่าจะดีขึ้นกว่าเดิม หลังจากที่ผ่านมาสหรัฐฯสูญเสียมิตรไปไม่น้อย และหากยังต้องการเข้ามายุ่มย่ามในเขตเอเซีย ทะเลจีนใต้ต่อไป ก็ต้องหันมาญาติดีกับไทยมากขึ้นหลังจากระยะหลังเริ่ม"ไม่มีใครคบ"มากขึ้น
ที่ผ่านมาประเทศไทยในยุคของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับสหรัฐอเมริกาหลังจากมีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมาความสัมพันธ์ตึงเครียด เพราะสหรัฐฯลดระดับความสัมพันธ์ โดยก่อนหน้านี้หนุนหลัง"ระบอบทักษิณ"จนออกนอกหน้า แต่เมื่อฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)สามารถยืนระยะได้อย่างมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ บรรยากาศก็เริ่มเปลี่ยนไปในทางตรงข้าม และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีเพียงไทยเท่านั้นที่วางท่าทีเฉยๆกับสหรัฐฯในแบบที่ว่าแม้ว่า"เขาจะไม่ดีกับเราแต่เราไม่โกรธ"จะคบหรือไม่คบก็ได้ ขณะเดียวกันระดับผู้นำก็ไม่เคยไปแสดงความเห็นหรือวิจารณ์การเมืองของสหรัฐฯ ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยังไม่ออกความเห็นในเรื่องดังกล่าว บอกว่า"อย่าไปยุ่งกับเรื่องของเรา เอาเรื่องภายในของเราให้สงบก่อน" มันจึงเป็นภาพชัด ผิดกับหลายประเทศที่เชียร์ผู้สมัครแต่ละคนแบบออกนอกหน้าและรังเกียจอีกฝ่ายหากชนะเลือกตั้ง ดังนั้นหากพูดด้วยความมึนงงว่าการเมืองของสหรัฐฯมันมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ก็คงตอบได้เพียงว่าทุกอย่างมันเป็นวงรอบของมัน มีสูงสุด มีต่ำสุด มีรุ่งเรืองก็มีเสื่อมหมุนเวียนไป ขณะที่ไทยแม้ว่ายังไม่รู้ว่าอนาคตจะไปทางไหนได้เต็มร้อย แต่เท่าที่พิจารณาดูในตอนนี้เราน่าจะ"ผ่านจุดต่ำสุด"มาแล้ว !!
|