ผู้นำดีแต่ปาก..ปีละหมื่นล้าน
นำเข้าเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2559 โดย จุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58618]  

เสียดายแดดไทย 1 หมื่นล้านบาทต่อปี : ศึกษาจาก “เส้นโค้งเป็ด” ในรัฐแคลิฟอร์เนีย .....

 

 

 

        1. คำนำ
       
                    ก่อนอื่นขอเรียนว่าผมไม่ได้ตั้งชื่อบทความนี้ให้ “เว่อร์” เพียงเพื่อจะดึงดูดให้ท่านผู้อ่านมาสนใจ แต่เป็นผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารระดับโลก แม้เรื่องราวดูแล้วอาจจะเข้าใจยากไปสักนิด แต่ผมเชื่อว่าไม่ได้ยากอย่างที่ท่านคิด และในเชิงเศรษฐกิจและสังคม การที่ประเทศไทยเราทิ้งแดดที่มีมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปีไปเฉยๆ แล้วหันไปนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลีย และก๊าซธรรมชาติจากพม่าและกาตาร์เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้านั่นแหละ คือ สาเหตุหนึ่งของความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
       
        ที่เป็นเช่นนี้เพราะนโยบายของรัฐบาลที่วางอยู่บนผลประโยชน์ของกลุ่มพ่อค้าพลังงานตลอดมารัฐบาลในอดีตอาจมีข้อแก้ตัวว่า การลงทุนเพื่อเก็บเกี่ยวแสงแดดต้องลงทุนสูง แต่รัฐบาลในปัจจุบันและในอนาคตไม่มีสิทธิจะแก้ตัวด้วยมุกเดิม เพราะต้นทุนดังกล่าวได้ถูกลงกว่าทุกเชื้อเพลิงแล้ว
       
       2. ความเข้าใจพื้นฐานและมูลค่าเชื้อเพลิงที่สามารถแทนได้แสงแดด
       
                  เนื่องจากการใช้ไฟฟ้าเป็นกิจกรรมที่ต้องมีความต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน แม้เจ้าของบ้านไม่อยู่แต่ตู้เย็นก็ยังกินไฟ และแต่ละช่วงเวลาของวันการใช้ไฟฟ้าก็ไม่เท่ากัน โดยปกติในช่วงหลังเที่ยงคืนการใช้ไฟฟ้าจะต่ำที่สุด แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วง 11 นาฬิกากว่าๆ แล้วก็ลดต่ำลงอีกในตอนพักอาหารกลางวัน แล้วเพิ่มใหม่อีกสองครั้งในช่วงบ่ายและตอนหัวค่ำ ดูเส้นกราฟกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยที่เดินเครื่องเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 ซึ่งกำลังการผลิตต่ำสุดที่ประมาณ 18,000 เมกะวัตต์เมื่อเวลาประมาณตี 4 และสูงสุดที่ 23,000 เมกะวัตต์ เมื่อเวลาตอนบ่ายสองและหนึ่งทุ่มกว่าๆ ที่คนชอบดูละครโทรทัศน์ เส้นความต้องการใช้ไฟฟ้าของแต่ละประเทศก็จะสะท้อนกิจวัตรประจำวันของคนในชาติในลักษณะเช่นนี้ครับ

 
เสียดายแดดไทย 1 หมื่นล้านบาทต่อปี : ศึกษาจาก “เส้นโค้งเป็ด” ในรัฐแคลิฟอร์เนีย
        ประเด็นสำคัญที่ผมจะนำเสนอได้เกิดขึ้นจริงแล้วในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และอีกหลายรัฐในหลายประเทศ คือในช่วงกลางวันตั้งแต่เวลาประมาณ 9ถึง 16 นาฬิกา ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศเรามีแดดเปรี้ยง ทำไมเราไม่ผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ เหมือนกับที่รัฐแคลิฟอร์เนียได้ทำมาแล้วการใช้แสงแดดผลิตไฟฟ้าเป็นการลดรายจ่ายค่าเชื้อเพลิงซึ่งส่วนหนึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ในปี 2558 ประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าคิดเป็นเงิน 2.2 แสนล้านบาท ถ่านหินนำเข้าอีก 20.6 ล้านตัน ไม่ทราบราคาที่แน่ชัดแต่ถ้าตันละ 2,800 บาท ก็เกือบ 6 หมื่นล้านบาท
       
        เส้นประสีแดงในรูปข้างต้นเป็นเส้นที่ผมลากขึ้นเองครับ เพื่อจะบอกว่าถ้าประเทศเรามีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านสักจำนวนหนึ่งแล้ว จำนวนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งจำนวนโรงไฟฟ้าที่จะสร้างใหม่ก็จะลดลงด้วย
       
        ผมขอประมาณการอย่างคร่าวๆ จากเส้นกราฟในรูป ถ้าเราสามารถลดกำลังการผลิตด้วยเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้าลงมาได้ 3 พันเมกะวัตต์ เป็นเวลานาน 6 ชั่วโมง จาก 9 โมงเช้าถึง 3โมงเย็น เราก็สามารถลดการซื้อเชื้อเพลิงลงได้เมื่อนำกำลังการผลิต (3 พันเมกะวัตต์) มาคูณกับระยะเวลา (6 ชั่วโมง) คำตอบที่ได้ก็คือพลังงานครับเหมือนกับการคิดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านนั่นแหละ คำตอบที่ได้คือ 18 ล้านหน่วยต่อวันครับ
       
        จากรายงานประจำปี 2558 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยพบว่า ในการผลิตไฟฟ้า 1 หน่วย ถ้าใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตต้นทุนเชื้อเพลิงคิดเป็นเงิน 1.77 บาท (จำนวน 6.83 ลูกบาศก์ฟุต อัตรา 285 บาทต่อล้านบีทียู) ดังนั้น เมื่อคิดรวมทั้งปีแสงแดดในช่วงดังกล่าวก็มีมูลค่า 11,600 ล้านบาท ในบทความนี้ผมคิดตัวเลขกลมๆ แค่ 1 หมื่นล้านบาทต่อปีครับ
       
       3. กรณีศึกษา “เส้นโค้งเป็ด” ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
       
        รัฐแคลิฟอร์เนียมีประชากร 39 ล้านคน (หรือ 57% ของไทย) แต่มีการใช้ไฟฟ้า 1.6 เท่าของไทยโดยในปี 2014 เชื้อเพลิงที่ใช้มากที่สุด 4 อันดับแรกคือ ก๊าซธรรมชาติ 44.5%,พลังงานหมุนเวียน 20.1%, นิวเคลียร์ 8.5% และถ่านหิน 6.4% ไม่ระบุที่มาอีก 15.0% โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มพลังงานหมุนเวียนเป็น 33% ในปี 2020
       
        ในปี 2006 ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเท่ากับ 50,270 เมกะวัตต์ โดยได้ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่กลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (อาจเพราะอิทธิพลของเอลนีโญ) ในปี 2015 เหลือ 47,358 เมกะวัตต์ (ที่มา California ISO Peak Load History, Wikipedia)
       
        ที่กล่าวมาแล้วเป็นข้อมูลพื้นฐาน ต่อไปนี้จะกล่าวถึงผลงานวิจัยเรื่อง “เราจะหยุดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้หรือไม่? (Will We Ever Stop Using Fossil Fuels?)” ซึ่งตีพิมพ์ใน Journal of Economic Perspectives, Volume 30, Number 1, Winter 2016 เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์พลังงานระดับศาสตราจารย์แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์และทีมงานรวม 3 ท่าน
       
        ประเด็นที่ผมสนใจในงานวิจัยชิ้นนี้คือ “เส้นโค้งเป็ด (Duck Curve)” แม้เส้นโค้งจะมีรายละเอียดดูยุ่งยาก แต่เมื่อเทียบกับภาพจริงของเป็ดตัวหนึ่งแล้วผมหวังว่าทุกท่านคงจะอุทานออกมาว่า เออ เหมือนจริง!
       
        พิจารณาเส้นโค้งที่เป็นรูปส่วนหลังของตัวเป็ดก่อนนะครับ ทุกเส้นแทนความต้องการใช้ไฟฟ้า (ที่มาจากสายส่ง) ในเดือนมีนาคม ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ละเส้นแทนแต่ละปี เส้นบนสุด และเส้นที่สองถัดมา แทนความต้องการไฟฟ้าซึ่งได้เกิดขึ้นจริงแล้วในปี 2012 และ 2013ตามลำดับ (ดูภาพประกอบ)

 
เสียดายแดดไทย 1 หมื่นล้านบาทต่อปี : ศึกษาจาก “เส้นโค้งเป็ด” ในรัฐแคลิฟอร์เนีย
        แต่ละเส้นแทนความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตโดยโรงไฟฟ้าชนิดอื่นๆ โดยไม่รวมโซลาร์เซลล์ (หรือไฟฟ้าจากสายส่ง) พิจารณาเส้นโค้งบริเวณส่วนหัวของเป็ดซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 3 ทุ่ม เราจะเห็นว่า เส้นโค้งในปี 2013 ที่เป็นหัวเป็ด จะสูงกว่าเส้นโค้งในปี 2012 ทั้งนี้เพราะว่าในแต่ละปีความต้องการไฟฟ้าจะเพิ่มมากขึ้น
       
        แต่ในส่วนที่เป็นลำตัวเป็ด เราจะเห็นสลับกันคือ เส้นโค้งความต้องการไฟฟ้าจากสายส่งในปี 2013 จะต่ำกว่าเส้นโค้งปี 2012 ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ความต้องการไฟฟ้าส่วนหนึ่งได้รับการตอบสนองจากไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ (ซึ่งไม่ได้นับรวมอยู่ในเส้นโค้งเป็ด) และเส้นโค้งดังกล่าวจะย้อยต่ำลงมาเรื่อยๆ ในปีถัดไป ทั้งนี้เพราะว่ามีการติดตั้งโซลาร์เซลล์สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ (ปี 2012 ติดตั้งสะสม 2,559 เมกะวัตต์ และปี 2013 ติดตั้งสะสม 5,183 เมกะวัตต์ โดยมีศักยภาพถึง 128,900 เมกะวัตต์)
       
        พิจารณาเฉพาะในช่วงปี 2012 และ 2013 ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้ว (สำหรับเส้นอื่นๆ เป็นการคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์) ผลจากการติดโซลาร์เซลล์ที่เพิ่มขึ้นจำนวน 2,584 เมกะวัตต์ สามารถประมาณอย่างคร่าวๆ ว่า ได้ประหยัดพลังงานรวมทั้งเดือนจำนวน 380 ล้านหน่วย โดยไม่ได้ก่อปัญหาใดในระบบการผลิตไฟฟ้าของรัฐแคลิฟอร์เนียเลย
       
        อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าในปี 2020 ซึ่งเส้นโค้งความต้องการไฟฟ้าจะเป็นเส้น “ท้องเป็ด” อาจจะเกิดความเสี่ยงในการผลิตไฟฟ้าทั้งระบบของรัฐได้ เพราะเมื่อไฟฟ้าจากแสงแดดหมดไปแล้วทางการไฟฟ้าฯ จะต้องเร่งเพิ่มการผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการใช้จากระดับ 13,000 เมกะวัตต์ในเวลาประมาณ 17นาฬิกา เป็น 26,000 เมกะวัตต์ในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา หรือภายในประมาณ 3 ชั่วโมงซึ่งถือว่าอาจจะมีเวลาน้อยเกินไป
       
        ในปี 2015 รัฐแคลิฟอร์เนียได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปแล้ว 13,234 เมกะวัตต์ (ประมาณ 50% ของกำลังผลิตในช่วง 3 ทุ่ม) ก็ยังไม่มีรายงานว่าได้ก่อให้เกิดปัญหาใดๆ ประเทศเยอรมนีซึ่งได้ติดโซลาร์เซลล์ไปแล้วเกือบ 4 หมื่นเมกะวัตต์ (หรือ 22% ของกำลังผลิตติดตั้งทั้งประเทศ) ก็ไม่มีปัญหา
       
        นอกจากนี้งานวิจัยชิ้นนี้ยังได้นำเสนอข้อมูลที่สำคัญอีก 2 อย่าง คือ
       
        (1) ต้นทุนเฉลี่ยของไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่ชนะการประมูลที่เมืองดูไบ เมื่อปี 2014 (โดยราคาจะคงที่ไปตลอด 25 ปี) เท่ากับ 5.98 เซนต์สหรัฐต่อหน่วย (หรือ 2.10 บาท) ต่ำกว่าราคาที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งเท่ากับ 11 เซนต์ต่อหน่วย และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก
       
        (2) ต้นทุนที่เกิดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (Externality) ของโรงไฟฟ้าถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกาโดยเฉลี่ยเท่ากับ 40 ดอลลาร์และ 20 ดอลลาร์ต่อไฟฟ้าที่ผลิตได้ 1 พันหน่วย
       
       4. อีก 7 ปี ความต้องการไฟฟ้าจากสายส่งในรัฐออสเตรเลียใต้จะเป็นศูนย์ในบางวัน
       
        ไม่เพียงแต่ในรัฐแคลิฟอร์เนียที่ความต้องการไฟฟ้าในช่วงกลางวันได้ลดลง แต่องค์กรที่มีชื่อว่า “The Australian Energy Market Operator” ได้พยากรณ์ว่า
       
        “ความเติบโตของการใช้โซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านและอาคารธุรกิจ จะทำให้ความต้องการไฟฟ้าจากสายส่งในช่วงกลางวันของรัฐออสเตรเลียใต้ (ซึ่งมีประชากร 1.7 ล้านคน) จะลดต่ำลงจนเป็นศูนย์ในบางวันภายในปี 2023 (ซึ่งคาดว่าจะมีโซลาร์เซลล์บนหลังคา 1,864 เมกะวัตต์) ลักษณะเด่นดังกล่าว จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในตลาดพลังงาน และจะทำให้เกิดการเคลื่อนตัวไปจากการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าหลักแบบรวมศูนย์”

 
เสียดายแดดไทย 1 หมื่นล้านบาทต่อปี : ศึกษาจาก “เส้นโค้งเป็ด” ในรัฐแคลิฟอร์เนีย
        5. สรุป
       
        จากที่ได้กล่าวมาแล้ว พอสรุปได้ว่า เราสามารถเก็บเกี่ยวแสงแดด หรือ “เก็บตะวัน” มาเป็นพลังงานเพื่อผลิตไฟฟ้าให้ได้วันละประมาณ 18 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ดังตัวอย่างที่ได้เกิดขึ้นแล้วในรัฐแคลิฟอร์เนีย และรัฐออสเตรเลียใต้
       
        ในกรณีประเทศไทย เราสามารถทำได้โดยการติดตั้งบนหลังคาบ้านอาศัย อาคารพาณิชย์ รวมทั้งสถานที่ราชการรวมประมาณ 4,600 เมกะวัตต์ จะทำให้เราไม่ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติและถ่านหินคิดเป็นมูลค่าปีละ 1 หมื่นล้านบาท ถ้า 10 ปีก็หนึ่งแสนล้านบาท นอกจากจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและแหล่งท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการกระจายรายได้ให้กับคนไทยด้วย โดยรัฐบาลไม่ต้องลงทุนหรืออุดหนุนใดๆ เลยแต่รัฐบาลไทยก็กีดกันเชิงนโยบาย
       
        ดร.เฮอร์มานน์ เชียร์ ผู้บุกเบิกพลังงานหมุนเวียนของโลกได้สรุปไว้ในเวที WTO เมื่อปี 2005 ว่า “ปัญหาทั้งหมดอยู่ที่ผู้นำที่ หนึ่ง ชอบดีแต่ปาก สอง ชอบแก้ตัวสารพัด และ สาม ขาดความกล้าหาญที่จะลดผลประโยชน์ของพ่อค้าพลังงานฟอสซิลไม่ใช่เหตุผลเรื่องโซลาร์เซลล์ราคาแพงและมีจำนวนน้อยแต่อย่างใด ดังภาพประกอบ

 
เสียดายแดดไทย 1 หมื่นล้านบาทต่อปี : ศึกษาจาก “เส้นโค้งเป็ด” ในรัฐแคลิฟอร์เนีย
        ผู้นำของไทยเราเป็นอย่างนี้ไหมครับ?
       
        แต่ที่น่าห่วงมากกว่านั้น ถ้ารัฐบาลนี้ตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้วก็จะมีผลผูกพันไปนาน 40 ปี ซึ่งจะทำให้หมดโอกาสในการได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่มีราคาถูกมากๆ และกำลังได้รับการต้อนรับจากทั่วโลกยกเว้นผู้นำประเทศไทย


 
ข่าวล่าสุด ในหมวด

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้