วงเวียนกรรม ..ต้องชดใช้กรรม
นำเข้าเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2559 โดย จุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58567]  

วงเวียนกรรม : สหกรณ์คลองจั่น-สหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาฯ .....

อาจจะเรียกว่า เป็นผลข้างเคียงจากกรณีทุจริตโกงกินในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

เมื่อสหกรณ์คลองจั่นถูกอดีตผู้บริหาร ซึ่งเคยถูกไวยาวัจกรของวัดพระธรรมกาย และพวกรุมทึ้ง

ถูกโกงจนเหลือแต่กระดูก

สินทรัพย์เหลืออยู่ประมาณ 4,000 กว่าล้านบาท แต่มีหนี้สินมหาศาลถึง 17,000 ล้านบาท

นอกจากสมาชิกสหกรณ์คลองจั่นกว่า 50,000 ราย และผู้ฝากเงินจะเดือดร้อนแล้ว บรรดาเจ้าหนี้ก็ได้รับผลกระทบด้วย เดือดร้อนไปตามๆ กัน

ล่าสุด หางเลขไปตกที่สหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาฯ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการนำเงินไปให้สหกรณ์ คลองจั่นกู้ยืม และฝากเงินไว้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐีด้วย

1) รศ.ดร.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ อดีตประธานสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด (2518-2525) ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ สรุปประเด็นเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ เช่น

ระบุว่า มีการนำเงินสหกรณ์ไปลงทุนกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นและสหกรณ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นจำนวนมาก รวมๆ แล้ว ทั้งต้นทั้งดอกเบี้ยที่ยังไม่ได้รับคืนมากกว่า 2,600 ล้านบาท ซึ่งมีข่าวว่าผู้บริหารสหกรณ์เหล่านั้นมีปัญหา อีกทั้งสมาชิกสหกรณ์ของเขาล้วนไม่มีเงินเดือนประจำให้หักชำระหนี้ณ ที่จ่าย ปัญหานี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเวลาล่วงเลยมากว่า 3 ปีแล้ว ส่งผลให้กำไรปีที่แล้วลดลงกว่า 200 ล้าน สมาชิกที่เคยได้รับเงินปันผลมากกว่าร้อยละ 6 เหลือเพียงร้อย 4 กว่าๆ ต้องไปนำเงินทุนรักษาระดับอัตราปันผลที่เก็บสะสมมาตั้งแต่ก่อตั้งสหกรณ์เมื่อปี 2504 มาสมทบจ่ายปันผลให้ได้ร้อยละ 5.50 เมื่อยังไม่รับเงินลงทุนมากขนาดนั้นย่อมจะส่งผลถึงผลประกอบการปีนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ระบุด้วยว่า สมาชิกกลุ่มหนึ่งที่สนใจติดตามความเป็นไปของสหกรณ์ฯมาตลอด ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ด้วยความห่วงใยในความอยู่ได้ไปรอดของสหกรณ์ฯ ได้เข้าร้องเรียนต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเข้ามาสอบสวน ทำความจริงต่างๆ ให้ปรากฏ โดยเฉพาะการนำเงินไปลงทุนในปี 2556

“ขอเรียกร้องให้ชาวจุฬาฯ มวลสมาชิก ตื่นรู้ข้อเท็จจริง พิทักษ์ความถูกต้องรักษาสิทธิประโยชน์อันชอบธรรม”

2) ล่าสุด ปรากฏคำชี้แจงของผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาฯคนปัจจุบัน คือ “ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา”

ระบุว่า

(1) กรณีสหกรณ์คลองจั่นฯ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2556 สหกรณ์จุฬาฯ ทำสัญญาให้กู้แก่สหกรณ์คลองจั่นฯ วงเงินกู้ 1,431 ล้านบาท มีหลักทรัพย์ประกันเป็นโฉนดที่ดิน 28 ไร่ 2 งาน 96 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารยูทาวเวอร์ พร้อมศูนย์ประชุม ติด ถ.ศรีนครินทร์ (ตรงข้าม รพ.สมิติเวชศรีนครินทร์) นำมาจำนองเป็นประกัน ซึ่งเป็นสหกรณ์เพียงแห่งเดียวที่มีหลักทรัพย์ในการค้ำประกันเงินกู้

ปัจจุบัน เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2559 ศาลล้มละลาย ได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและแผนฟื้นฟูกิจการแก้ไขของสหกรณ์คลองจั่นฯ และสหกรณ์คลองจั่นฯ ได้ทยอยชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่สหกรณ์จุฬาฯ ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นงวดรายเดือน ต้นเงินเดือนละ 9,540,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี โดยได้รับชำระตั้งแต่ ม.ค. 2559 จนถึงปัจจุบัน (พ.ค. 2559) เป็นรายเดือน กำหนดชำระครบถ้วนตามแผนฟื้นฟูฯ ในวันที่ 30 มิ.ย. 2571 ส่วนดอกเบี้ยค้างชำระ (25 มิ.ย. 2556-31 ธ.ค. 2558) จำนวน 104,707,123 บาท สหกรณ์คลองจั่นฯ จะชำระคืนให้สหกรณ์ภายใน 5 ปี ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 10,470,712 บาท (ทุกครึ่งปี)

(2) กรณีสหกรณ์มงคลเศรษฐีฯ เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2556 สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ นำเงินไปฝาก 200 ล้านบาท โดยมีคณะกรรมการสหกรณ์มงคลเศรษฐีฯ จำนวน 15 คน ลงนามค้ำประกันเงินฝากระยะเวลา 12 เดือน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยรายเดือน เมื่อเงินฝากครบกำหนดได้ฝากต่ออีก 12 เดือน เมื่อเงินฝากครบกำหนดได้ฝากต่ออีก 12 เดือน เมื่อเงินฝากครบกำหนดสหกรณ์จุฬาฯ แจ้งขอถอนคืนเงินฝากทั้งจำนวนพร้อมดอกเบี้ย สหกรณ์มงคลเศรษฐีฯ แจ้งว่าขาดสภาพคล่องไม่สามารถจ่ายเงินได้

ปัจจุบัน เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2558 สหกรณ์จุฬาฯ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสหกรณ์มงคลเศรษฐีฯ พร้อมผู้ค้ำประกันที่ศาลจังหวัดธัญบุรี ทุนทรัพย์ที่ฟ้อง 215,788,513 บาท ขณะนี้ศาลนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยครบถ้วนแล้ว นัดฟังคำพิพากษา 14 ก.ย. 2559

(3) กรณีสหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจ เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2556 สหกรณ์จุฬาฯ นำเงินไปฝาก 915 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุกวันที่ 31 มี.ค. ของทุกปี เงินฝากครบกำหนดวันที่ 27 พ.ย. 2558 โดยมีหลักประกันเป็นโฉนดที่ดินจำนวน 218 ไร่ 3 งาน 48 ตร.ว. อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จ.มหาสารคาม นำมาจำนองเป็นประกัน ที่ดินดังกล่าวอยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้างทาวน์เฮ้าส์ ขายแก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อเงินฝากครบกำหนด สหกรณ์จุฬาฯ แจ้งขอถอนคืนเงินฝากทั้งจำนวนพร้อมดอกเบี้ย สหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ แจ้งขอขยายระยะเวลาคืนเงินฝาก ดอกเบี้ย และค่าผิดชำระหนี้

ปัจจุบัน เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2559 สหกรณ์จุฬาฯ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯที่ศาลจังหวัดมีนบุรี ทุนทรัพย์ที่ฟ้อง 1,063,154,706 บาท ศาลนัดฟ้องโจทก์และจำเลยพร้อมกันวันที่ 10 ต.ค. 2559

3) จากคำชี้แจงข้างต้น มีข้อสังเกต ดังนี้

(1) กรณีสหกรณ์คลองจั่น ปรากฏข้อเท็จจริงยืนยันว่า สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬา ได้ไปทำสัญญาให้กู้แก่สหกรณ์คลองจั่น 1,431 ล้านบาท เมื่อ 25 มิ.ย. 2556

น่าสังเกตว่า ผู้บริหารสหกรณ์คลองจั่นชุดนั้น ได้ถูกแจ้งความดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์ฉ้อโกงประชาชน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 (มีข่าวไม่ชอบพากลก่อนหน้านั้นแล้ว) และคณะกรรมการธุรกรรมมีมติยึดอายัดทรัพย์เครือข่ายนายศุภชัย เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2556

น่าสงสัยว่า กรณีครึกโครมถึงขนาดนั้น ผู้บริหารสหกรณ์จุฬาฯ ขณะนั้น เอาเงินของชาวสหกรณ์จุฬาฯ ไปให้สหกรณ์คลองจั่นกู้ โดยไม่สะทกสะท้านได้อย่างไร

ซึ่งในที่สุด ก็เกิดปัญหาขึ้นมาจริงๆ เพราะไม่สามารถได้รับดอกผลและเงินต้น จะต้องทยอยรับคืนตามแผนฟื้นฟูในระยะเวลาอีกนานหลายปี

(2) กรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี ปรากฏข้อเท็จจริงว่า สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ นำเงินไปฝาก 200 ล้านบาทจริง ก่อนจะถูกเบี้ยว กระทั่งต้องฟ้องร้องคดีต่อศาลในภายหลัง

น่าสงสัยว่า ผู้บริหารสหกรณ์จุฬาฯ ขณะนั้น ไม่เอะใจบ้างเลยหรือ เพราะผู้บริหารสหกรณ์คลองจั่นกับมงคลเศรษฐี ก็กลุ่มก๊วนเครือข่ายเดียวกัน แล้วกรณีสหกรณ์คลองจั่นก็มีข่าวไม่ชอบมาพากลตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว

ทำไมไม่เร่งขอถอนเงินคืนมาแต่เนิ่นๆ

แล้วเวลานี้ มีข่าวว่า คดีมีแนวโน้มยอมความกันได้ โดยสหกรณ์มงคลเศรษฐีฯ ยินดีคืนเป็นหุ้นบริษัท สหประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) วงเงิน 190 ล้านบาท แต่ในข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทดังกล่าว เป็นหนึ่งในนิติบุคคล 19 แห่งที่ถูกดีเอสไอสอบคดีฟอกเงินจากกรณีสหกรณ์คลองจั่นอยู่ด้วย หากสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ไปตกลงรับชำระเป็นหุ้นของบริษัทดังกล่าวมา จะมีความเสี่ยงหรือไม่?

สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ยอมรับได้หรือไม่? พร้อมรับหรือไม่?

4) หลังศาลล้มละลายมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นแล้ว ขณะนี้กำลังดำเนินการตามแผน ถือเป็นการฟื้นฟูกิจการสหกรณ์แห่งแรก และมีจำนวนเจ้าหนี้มากที่สุดในประวัติศาสตร์

สหกรณ์คลองจั่นจำเป็นต้องได้รับสินเชื่อสนับสนุนจากภาครัฐกว่าหมื่นล้านบาท เพื่อนำมาเป็นทุนในการต่อยอดหารายได้ต่อไป และสหกรณ์คลองจั่นยังต้องติดตามสนับสนุนการทำหน้าที่ของดีเอสไอ ปปง. เพื่อติดตามดำเนินคดีกับคนผิด และยึดคืนทรัพย์สินที่ถูกผ่องถ่ายออกไปกลับคืนมา

ถึงวันนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ และสหกรณ์อีกหลายแห่ง ยังผูกชะตากรรมร่วมกันไปด้วย โดยจะต้องช่วยส่งเสียงเชียร์ สนับสนุน การเอาผิดกับคนโกงและพวกให้ถึงที่สุด ตลอดจนติดตามทรัพย์สินคืนมาให้ได้มากที่สุดเพื่อนำกลับมาฟื้นฟูกิจการ ทั้งเพื่อสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเองและสหกรณ์อื่นๆ ที่ให้กู้และฝากเงินอีกนับร้อยแห่ง มีผู้คนเกี่ยวข้องหลายแสนชีวิต

สารส้ม


 

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้