กังฟูสู้ศึก มีลูกสืบสกุล
นำเข้าเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2559 โดย  
อ่าน [58693]  

เจาะอารยธรรมพุทธเอเชีย EP.2 กังฟูสู้ศึก มีลูกสืบสกุล ซดสาเกบำรุงกำลัง .....


 


 

หลังจากที่ได้นำเสนอความแตกต่างของพระแต่ละประเทศในตอนที่ 1 ซึ่งเป็นเรื่องราวของประเทศทิเบตและภูฏานไปแล้วนั้น วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอนำเสนอตอนที่ 2 โดยเป็นเรื่องราวของพระประเทศจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม จะแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด โปรดติดตาม...

จีน ดินแดนอารยธรรมพันปี

ประเทศจีน มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นรัฐเอกราชในเอเชียตะวันออก จีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก กว่า 1.3 พันล้านคน

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา ม.พระพุทธศาสนาแห่งโลก เล่าเรื่องราวของพุทธศาสนาในประเทศจีนว่า จีน นับถือมหายาน โดยหลักๆ แล้ว มหายานมี 10 นิกายใหญ่ แต่นิกายที่สำคัญคือ นิกายฌาน หรือเซน เป็นพุทธศาสนาของปัญญาชน นิกายเซนจะไม่นิยมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรืออิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ใดๆ แต่จะเน้นในเรื่องการฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนา ฝึกการใช้ปัญญา เพื่อให้เกิดพุทธิปัญญาจนเข้าใจหลักธรรมด้วยตัวเอง

 
พุทธศาสนาในจีนมี 2 นิกายหลัก คือ ฌาน และ สุขาวดี ขอบคุณภาพจาก www.en.people.cn

และนิกายสุขาวดี เป็นนิกายที่ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนับถือ ไม่เน้นให้พึ่งปัญญาของตนเองในการแสวงหาความหลุดพ้น แต่สอนให้พึ่งอำนาจภายนอก เป้าหมายหลักคือการได้ไปอยู่ในพุทธเกษตรสุขาวดี สวรรค์ทางทิศตะวันตก ของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งที่มีนามว่า ‘อมิตาภะ’ นิกายสุขาวดีจึงสอนให้คนมีศรัทธาหรือมีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะสวดมนต์อ้อนวอนส่งจิตไปขอให้พระอมิตาภะทรงช่วยให้หลุดพ้น คำว่า ‘ศรัทธา’ จึงเป็นเงื่อนไขที่พุทธศาสนิกชนนิกายสุขาวดีจำเป็นต้องมีเป็นอันดับแรก

และพระพุทธเจ้าจะมีสาวก 2 พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งเรียกว่า อวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ หรือ กวนอิม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมตตากรุณา และพระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์ เป็นสัญลักษณ์ของมุทิตา อุเบกขา ฉะนั้น วัดจีนส่วนใหญ่จะตั้งพระพุทธรูปพระอมิตาภะอยู่ตรงกลาง องค์ขวามือเป็นกวนอิม และองค์ซ้ายมือเป็นพระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์

ดร.ทวีวัฒน์ เล่าต่อว่า พระจีนจะเคร่งครัดเหมือนกับพระไทย จะต้องประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์หรือมีครอบครัวได้ และพระจีนเมื่อบวชแล้วจะต้องบวชตลอดชีวิต หากลองสังเกตบนศีรษะพระจีนจะพบว่า มีรอยธูปจี้อยู่บนศีรษะ โดยรอยธูปเปรียบเสมือนคำสาบาน ว่าบวชแล้ว จะคงเป็นพระภิกษุไปตลอดชีวิต

ส่วนการแต่งกายของพระจีน ถ้าเป็นการประกอบพิธีกรรมหรือออกนอกวัดจะใส่ชุดสีเหลืองแขนทรงกระบอก แต่เวลาอยู่ในวัดโดยไม่เกี่ยวกับพิธีกรรม ทำความสะอาดวัด ผ่าฟืน ทำครัว จะใส่ชุดสบายๆ สีเทา นอกจากนี้ พระจีนยังฉันอาหาร 3 มื้อ แต่เคร่งครัดเรื่องกินเจ ไม่กินไข่ ไม่ดื่มนม

 
การสวดมนต์ของพระในประเทศจีน ขอบคุณภาพจาก www.en.people.cn
ตำนาน ‘หัวปลาไม้’ เคาะระหว่างสวดมนต์

หลายคนคงเคยเห็นพระจีนเวลาสวดมนต์จะต้องเคาะไม้อะไรบางอย่าง ดร.ทวีวัฒน์ อธิบายในเรื่องนี้ว่า “หัวปลาไม้ เป็นไม้ที่ถูกแกะสลักเป็นรูปหัวปลา พระจีนจะเคาะเพื่อทำให้ทุกคนสวดไปพร้อมๆ กัน โดยหัวปลาไม้มีประวัติที่ชาวจีนเล่ากันว่า ในสมัยพระถังซัมจั๋ง ท่านประสงค์จะเดินทางไปอินเดียไปอันเชิญพระไตรปิฎกกลับมาที่ประเทศจีน ผจญภัยเยอะ แต่หลักๆ พระถังซัมจั๋งมีตัวตนจริงๆ ในที่สุดก็อันเชิญพระไตรปิฎกมาได้สำเร็จ

และระหว่างทางที่นำพระไตรปิฎกกลับประเทศจีน มีอยู่ช่วงหนึ่งต้องข้ามแม่น้ำ เกิดเรือล่มขึ้นมา คำภีร์ที่อันเชิญก็ตกลงไปในน้ำ ตำนานเล่าว่า มีปลาตัวใหญ่ว่ายเข้ามาฮุบและกลืนเข้าไปในท้อง พระถังกับศิษย์ช่วยกันจับตัวปลา แต่ปลาไม่ยอมคายคัมภีร์ออกมา ก็เลยต้องหาอะไรทุบหัวเพื่อให้มันคายคัมภีร์ออกมา เป็นเพียงตำนานที่เขาเล่ากันในจีนก็เลยเป็นธรรมเนียมว่าเวลาสวดมนต์ต้องเคาะหัวปลาเพื่อให้คายคัมภีร์ออกมา”

 
เส้าหลินเป็นเพียงวัดแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงเรื่องการต่อสู้เนื่องจากประวัติศาสตร์สมัยก่อน
วัดเส้าหลิน เรียนรู้กังฟูสู้ศึกมองโกล

ดร.ทวีวัฒน์ เล่าถึงความเป็นมาของพระสงฆ์ที่เรียนศิลปะการป้องกันตัวว่า “พระจีนจะมีการเรียนกังฟูที่วัดเส้าหลิน ซึ่งเป็นช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ คล้ายๆ กับกรุงศรีอยุธยาในสมัยก่อน เมื่อพม่ามาบุกเผาทำลายก็มีพระฝางที่เป็นพระภิกษุแต่มีความรักชาติ ได้ตั้งตัวขึ้นมาเป็นก๊ก รวบรวมกำลังชาวบ้าน เมื่อพม่ามาเผาบ้านเมือง เผาวัด ก็ฮึดสู้ทำการต่อสู้กับพม่า แต่พอพม่าถอยทัพไปแล้ว ท่านก็วางอาวุธไปถือศีลภาวนาต่อ วัดเส้าหลินก็คล้ายๆ กัน

พระภิกษุในประเทศจีน แต่เดิมก็ไม่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้การจับอาวุธ แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์จีน โดยกองทัพมองโกลเข้ามายึดครองประเทศจีน วัดก็กลายเป็นสถานที่ของคนรักชาติอยากขับไล่ข้าศึกแอบมาซ่องสุมกำลัง พระก็เลยสอนมวยจีน กังฟู การฟันดาบให้ จับอาวุธ ศิลปะการต่อสู้ ฝึกฝนในวัด ซึ่งเป็นสถานที่ที่เหมาะสมในการฝึก เพราะลับตาคน พอถึงเวลาก็ออกไปต่อสู้ ปัจจุบันยังมีอยู่ที่วัดเส้าหลิน พระก็ยังฝึกกังฟูอยู่”

อย่างไรก็ตาม เส้าหลินเป็นเพียงวัดแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงเรื่องการต่อสู้ เนื่องจากประวัติศาสตร์สมัยนั้น พระฝึกคนจีนให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับข้าศึก พระที่วัดจึงสืบทอดศิลปะแบบมวยจีนเอาไว้ตราบเท่าทุกวันนี้ ขณะที่พระวัดอื่นไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้แบบเส้าหลิน

 
พระในวัดเส้าหลิน ขอบคุณภาพจาก www.topchinatravel.com
พระไทยเน้นบุญ พระจีนเน้นกุศล

ดร.ทวีวัฒน์ อธิบายความแตกต่างระหว่างพระจีนกับพระไทยว่า พระจีนส่วนใหญ่จะได้เงินมาจากการบริจาคของประชาชน และมักจะมีการตั้งมูลนิธิขึ้นมาทำเกี่ยวกับงานด้านสาธารณกุศล เมื่อประชาชนบริจาคเงินเข้าวัดนี้ วัดจะนำเงินนั้นมาเข้ามูลนิธิ เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ มูลนิธิเหล่านี้จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชน เช่น ทำข้าวต้มไปให้ นำผ้าห่มไปแจก เป็นต้น ฉะนั้นคนที่เข้ามาบริจาคเงินกับวัดจะเห็นผลงานอย่างเป็นรูปธรรมว่า เงินที่พวกเขาได้บริจาคไปนั้น ทางวัดนำไปสร้างประโยชน์สาธารณะจริง ทำให้คนศรัทธาและบริจาคมากขึ้น

ขณะที่พระไทยนั้น จะเน้นเรื่องการทำบุญ ประชาชนเข้าไปทำบุญบริจาคให้แก่วัด แต่ไม่ได้มีการจัดตั้งมูลนิธิขึ้น หรือมีก็ค่อนข้างน้อย และจะเห็นได้ชัดว่า วัดใดที่มีความมั่งคั่งสังเกตได้จากความสวยงาม ใหญ่โตอลังการของวัด แต่ชาวบ้านรอบๆ วัดก็ยังยากจนเช่นเคย จึงเป็นข้อแตกต่างที่ทำให้ประเทศที่นับถือเถรวาทที่เน้นด้านการทำบุญก็ยังเป็นประเทศที่ยากจน ขณะที่ประเทศมหายานสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ ซึ่งส่วนหนึ่งคือเน้นเรื่องกุศลเอาเงินมาช่วยประชาชนผู้ประสบภัย

 
ก่อนฉันอาหารของพระในจีน ขอบคุณภาพจาก www.en.people.cn

ญี่ปุ่น แดนอาทิตย์อุทัย

ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือที่ใครหลายคนรู้จักในบทบาท คอลัมนิสต์เว็บไซต์ Marumura ได้เล่าถึงพระในประเทศญี่ปุ่นว่า ในมหายาน จะไม่ถือศีลเคร่งครัด เนื่องจากมองว่าใครที่บรรลุแล้วนั้น คนที่บรรลุก็ไปช่วยเหลือคนอื่น โดยไม่ค่อยเอาศีลมาเป็นตัวบังคับ แต่จะเน้นการฝึกจิต ฝึกสติ ให้คนกวาดลานวัด สวดมนต์ เหมือนเรียนรู้การฝึกสมาธิในชีวิตประจำวัน

พุทธศาสนาในญี่ปุ่นจะแบ่งเป็น 5 นิกายสำคัญ ได้แก่ นิกายเทนได (Tendai) นิกายชินกอน (Shingon) นิกายโจโด (Jodo) นิกายเซน (Zen) นิกายนิชิเรน (Nichiren) สามารถทานอาหารได้ 3 มื้อ แต่บางนิกายจะทานเจ บางนิกายก็ทานเนื้อสัตว์​และสามารถดื่มเหล้าได้ คนญี่ปุ่นมองว่าสาเกเป็นเหมือนเครื่องดื่มที่บริสุทธิ์ จิบเพื่อบำรุงกำลัง โดยคนญี่ปุ่นจะมีสาเกที่ดื่มก่อนทานข้าว ทำให้มีความอยากอาหารมากขึ้น และไม่ได้ดื่มจนถึงขั้นเมามาย

การบวชเป็นพระของประเทศญี่ปุ่นนั้น จะต้องเป็นคนที่มุ่งมั่น เพราะการจะเป็นพระได้ต้องมีการสอบวุฒิบัตรก่อน และต้องมีวัดอยู่ ซึ่งคนที่จะเป็นพระได้ต้องไปขอวัด ขอฝึกวิชาจนทางวัดยอมรับ ถึงค่อยมาอยู่ในวัดได้ ไม่เช่นนั้นจะผิดกฎหมาย ไม่สามารถเป็นพระแบบโดดๆ ได้ ต้องมีสังกัดอยู่

พระ = อาชีพ ชาวยุ่นเข้าวัดเพื่อดูสถาปัตยกรรม ชมธรรมชาติ

ดร.กฤตินี เล่าเรื่องราวต่อว่า ประเทศไทยจะมีเรียนพระพุทธศาสนา เรียนประวัติพระพุทธเจ้า เรียนหลักธรรมต่างๆ แต่ในญี่ปุ่นไม่มีเลย มีเรียนแค่วิชาศีลธรรม ซึ่งคนญี่ปุ่นจะไม่รู้เลยว่าศาสนาพุทธเกี่ยวข้องอะไรอย่างไรบ้าง จึงทำให้ไม่ค่อยผูกพันกับพระและศาสนาพุทธ ขณะที่การไปวัดของคนญี่ปุ่นเหมือนไปเที่ยว ไปดูสถาปัตยกรรม ชมธรรมชาติมากกว่า

“สิ่งที่แปลกอย่างหนึ่งคือ ทัศนคติของคนญี่ปุ่นจะมองพระเหมือนเป็นอาชีพ อาชีพหนึ่ง เหมือนเป็นคนประกอบพิธีกรรม ในเมืองไทยเวลามีปัญหาทุกข์ร้อนใจอะไร ก็จะไปวัดไปทำบุญ แต่ของญี่ปุ่นถ้ามีใครเสียชีวิตหรือครบรอบวันเสียชีวิตถึงนิมนต์พระมาสวดและทำบุญ ก็เลยไม่ได้มองว่าพระเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ เขาจะไม่ค่อยเข้าใจ มองว่าเป็นพิธีกรรมที่ต้องทำเท่านั้นเอง ฉะนั้นความผูกพันระหว่างพระกับคนในสังคมจะน้อยกว่าประเทศไทย” ดร.กฤตินี อธิบาย

 
การบวชเป็นพระของประเทศญี่ปุ่นนั้น จะต้องเป็นคนที่มุ่งมั่น เพราะการจะเป็นพระได้ต้องมีการสอบวุฒิบัตรก่อน และต้องมีวัดอยู่อย่างชัดเจน
ว่ากันว่า...พระแห่งแดนอาทิตย์อุทัย ถือเป็นอาชีพที่มั่งคั่งที่สุด

ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา ม.พระพุทธศาสนาแห่งโลก อธิบายถึงความมั่งคั่งของพระญี่ปุ่นว่า แม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศเล็กๆ บ้านเรือนหลังเล็กๆ แต่พระที่นี่จะอยู่ในวัดที่ใหญ่โต กว้างขวาง มีกุฏิ มีโบสถ์ อยู่สุขสบายกว่าชาวบ้านทั่วไป และวัฒนธรรมญี่ปุ่นจะระบุไว้ว่า ประชาชนจะต้องไปลงทะเบียนที่กระทรวงมหาดไทยว่าสังกัดวัดไหน เจ้าอาวาสวัดนั้นก็จะมีรายชื่อประชาชนที่อยู่ในสังกัดนั้นอย่างชัดเจน

จากนั้น เมื่อมีคนในชุมชนตายก็มักจะทำพิธีที่วัดที่ตัวเองสังกัดอยู่ และมีพิธีเผาศพเหลืออัฐิเก็บใส่กล่องเล็กๆ เพื่อนำมาฝังและตั้งป้ายวิญญาณขึ้นมา ทำให้ทุกๆ วัดจะมีสุสานของคนที่อยู่ในชุมชนนั้น และกิจกรรมฌาปนกิจก็จะสร้างรายได้ให้แก่วัดมาก เนื่องจากครัวเรือนใดมีคนตายก็จะมาทำพิธีศพที่วัดนี้ โดยการทำพิธีศพจะต้องจ่ายเงินก้อนหนึ่งให้ทางวัด และจะต้องซื้อที่ฝังอัฐิในวัดด้วย

นอกจากนี้ พระญี่ปุ่นจะทำพิธีอุทิศบุญกุศลให้คนตายทุกเดือน เดือนละครั้ง ญาติพี่น้องจึงต้องมารวมตัวกันทำบุญ และแน่นอนว่าจะต้องจ่ายเงินค่าทำพิธีด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม พระญี่ปุ่นก็เหมือนเป็นอาชีพ มีรายได้สม่ำเสมอ ชัดเจน ทำให้พระที่นี่ดูมั่งคั่ง และคิดว่าเป็นพระที่สุขสบายที่สุดในโลกของพระพุทธศาสนา มีบ้านใหญ่โต มีลูกเมียได้ มีรายได้ชัดเจน

 
พระญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวที่สามารถแต่งงานมีครอบครัวได้ มีลูกเพื่อสืบสกุลของพระ
ลูกชาย ถูกคาดหวังสืบทอดตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดต่อจากพ่อ

ดร.ทวีวัฒน์ บอกเล่าถึงการสืบสกุลของพระญี่ปุ่นว่า พระญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวที่สามารถแต่งงานมีครอบครัวได้ มีลูกเพื่อสืบสกุลของพระ เมื่อเจ้าอาวาสของวัดแต่งงานมีครอบครัวแล้ว จะอาศัยอยู่ในวัดด้วยกันในกุฏิส่วนตัวที่อยู่ด้านหลังของวัด และเมื่อมีลูกชายคนโตจะได้รับความคาดหวังให้ทำหน้าที่สืบทอดตำแหน่งเจ้าอาวาสต่อจากพ่อ เมื่อลูกชายมีอายุครบบวชก็จะต้องไปบวช และไปศึกษาธรรมในวัดใหญ่ที่วัดของพ่อเป็นสมาชิกอยู่ เพื่อฝึกอบรมจนจบหลักสูตรและวัดที่เป็นสำนักงานใหญ่จะออกใบประกาศนียบัตรให้ เหมือนได้ใบปริญญามา เพื่อเตรียมพร้อมที่จะเป็นเจ้าอาวาสคนต่อไป

ส่วนพระลูกวัด ถ้าไม่มีเชื้อสายอะไร โอกาสจะเป็นเจ้าอาวาสย่อมเป็นไปได้ยาก และพระลูกวัดส่วนใหญ่จะเป็นโสด ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโสดตลอดไป แต่ยังหาเนื้อคู่ไม่เจอ แต่เมื่อพระลูกวัดเจอเนื้อคู่ก็มีสิทธิ์ที่จะแต่งงานตามธรรมเนียมในญี่ปุ่น แต่เมื่อแต่งงานมีครอบครัวแล้วพระลูกวัดจะต้องออกจากวัดเดิม เพื่อไปหาวัดใหม่อยู่กับครอบครัว โดยอาจจะเป็นวัดร้างที่ไหนสักแห่ง ซึ่งญี่ปุ่นมีวัดร้างอยู่ค่อนข้างเยอะ เพราะเกิดจากการที่ไม่มีการสืบทอดเจ้าอาวาสวัดต่อ จากนั้นจึงขึ้นไปเป็นเจ้าอาวาสวัดแห่งนั้นแทน

 
พระในเวียดนาม ขอบคุณภาพจาก www.hanoimoi.com.vn

 

 
ส่วนใหญ่แล้วความเชื่อของชาวเวียดนามมักจะยึดโยงกับบรรพบุรุษเป็นหลัก

 

เวียดนาม ที่ได้ชื่อว่าเป็นหลังคาอินโดจีน

อ.พิสิฐ อำนวยเงินตรา ผู้เชี่ยวชาญเวียดนามศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาตะวันออก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้อธิบายถึงเรื่องราวของศาสนาพุทธในประเทศเวียดนามว่า ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเวียดนามไม่นับถือศาสนา คิดเป็น 81.69% โดยที่พวกเขาจะบูชาบรรพบุรุษของตน บรรพบุรุษหมู่บ้าน วีรบุรุษสงคราม ผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน บรมครูงานฝีมือ บูชาเทพเจ้าเกี่ยวกับธรรมชาติ

ขณะที่ชาวเวียดนามอีกจำนวนหนึ่งที่นับถือศาสนา (ประมาณ 16 ล้านคน) ประกอบด้วย นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน 7.93% (ประมาณ 7 ล้านคน) นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก 6.62% (ประมาณ 6 ล้านคน) และอื่นๆ ประมาณ 2.6%

ส่วนนิกายเถรวาทจะมีคนส่วนน้อยที่นับถืออยู่ทางภาคใต้ของเวียดนามใกล้ๆ กับชายแดนกัมพูชา ก็จะได้รับอิทธิพลจากนิกายเถรวาทมา ซึ่งวัดทางภาคใต้นั้น จะมีรูปทรงคล้ายๆ กับวัดในประเทศไทย พระจะแต่งกายคล้ายๆ กัน

 
ขอบคุณภาพจาก www.hanoimoi.com.vn
 
ขอบคุณภาพจาก www.hanoimoi.com.vn
บรรพบุรุษ คือ สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวเหงียน

อ.พิสิฐ กล่าวถึงความเชื่อของชาวเหงียนว่า ส่วนใหญ่แล้วความเชื่อของชาวเวียดนามมักจะยึดโยงกับบรรพบุรุษเป็นหลัก หากเป็นชาวพุทธไทยเวลาไม่สบายใจก็จะหันหน้าเข้าวัดทำบุญ ตรงกันข้ามกับชาวเวียดนาม เพราะสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพวกเขา คือ บรรพบุรุษ ทำให้ทุกบ้านของชาวเวียดนามจะมีแท่นบูชาบรรพบุรุษอยู่ โดยจะวางในตำแหน่งที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของบ้าน มีการไหว้บรรพบุรุษทุกปี คล้ายๆ กับตรุษจีน หรือที่เรียกกันว่า ตรุษเวียดนาม ซึ่งเมื่อเวลาที่คนเวียดนามไม่สบายใจ เตรียมทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ ลูกจะแต่งงาน หรือมีพิธีกรรมอะไรที่เป็นมงคล ชาวเวียดนามก็จะไปไหว้บรรพบุรุษของพวกเขา ขอปู่ย่าตายายที่ล่วงลับไปแล้วช่วยปกปักษ์รักษา

และยังมีชาวเวียดนามบางกลุ่มที่ไปวัดเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่เวลาที่จะไปวัดเขาจะบอกว่าไปเที่ยว ไปถ่ายรูป ไม่ได้ศรัทธาเหมือนกับคนไทย แตกต่างจากคนไทยที่มักจะไปวัดไหว้พระ ทำบุญ ขอพร

นอกจากนี้ สมัยสงครามเวียดนามที่มีประธานาธิบดีเป็นคริสต์ เมื่อถูกคอมมิวนิสต์ปกครองทำให้ไม่ได้ส่งเสริมศาสนามากนัก ประชาชนส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยนับถือศาสนา แต่พอเปิดประเทศ พุทธศาสนาก็ฟื้นขึ้นมาใหม่ สามารถเผยแผ่ศาสนา และฟื้นฟูวัดวาอารามขึ้นมาอีกครั้ง.

อานนท์! ความคิดอาจมีแก่พวกเธออย่างนี้ว่า “ธรรมวินัยของพวกเรามี
พระศาสดาล่วงลับไปเสียแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดา” ดังนี้. อานนท์! พวกเธอ
อย่าคิดอย่างนั้น. อานนท์! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว
แก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดา
ของพวกเธอทั้งหลายโดยกาล
ล่วงไปแห่งเรา"

มหา.ที. ๑๐ / ๑๕๙ / ๑๒๘

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้