เป็นง่ายตายไวหรือไม่? ????
นำเข้าเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2558 โดย จุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58591]  

ทำความเข้าใจใหม่! ไขความต่างระหว่าง เชื้อเอชไอวี VS เอดส์ เป็นง่ายตายไวหรือไม่? .....


 

เรียกว่าเป็นที่ฮือฮาในโลกออนไลน์พอสมควร สำหรับซีรีส์ขวัญใจวัยรุ่น “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ซีซั่น 3” หลังจากปล่อย EP.10 ออกมา เฉลยข้อกังขาของ “พละ” หนุ่มผู้มีวินัย ตรงต่อเวลา และดูแลตัวเองเป็นอย่างมาก ทำให้หลายคนต่างตั้งข้อสังเกตมานานแล้วว่า เขาอาจกำลังป่วยเป็นอะไรสักอย่าง? ซึ่งเทน้ำหนักไปที่การติดเชื้อ HIV นั่นเอง

ถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม เพราะหลังจากปล่อยตอนล่าสุด ทำให้บรรดาวัยรุ่นที่ติดตามซีรีส์เรื่องนี้ เกิดความสงสัยจนต้องหาข้อมูลในเรื่องการติดเชื้อ HIV และอาการป่วยโรคเอดส์กันเลยทีเดียว อย่างไรก็ดี เชื้อ HIV และ เอดส์ นั้น ยังคงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ไม่อาจมองข้ามได้ เพราะที่ผ่านมา มีผู้ที่ไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดกันอยู่ไม่น้อย จึงต้องขอหยิบยกมาอธิบายให้ฟังง่ายๆ ว่า เชื้อ HIV และ เอดส์ จริงๆ แล้ว ไม่เหมือนกัน! 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอไล่เรียงและลำดับความรู้ในเรื่องของเชื้อ HIV และ เอดส์ ให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า จริงๆ แล้ว เชื้อ HIV กับ เอดส์ มีความแตกต่างกันอย่างไร? ผู้ที่ติดเชื้อ HIV จะสามารถมีเพศสัมพันธ์ และมีลูกได้หรือไม่? รวมถึงการทานยาต้านไวรัส จะช่วยให้เชื้อหายขาดได้หรือไม่? ทุกประเด็นที่หลายคนสงสัย ในวันนี้มีคำตอบ...

 
"พละ" หนุ่มผู้ติดเชื้อ HIV ที่ต้องทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลา
 
ความรักระหว่าง "พละ-ส้มส้ม" จะล่มไม่เป็นท่าหรือไม่
ทำความเข้าใจใหม่! เชื้อ HIV และ เอดส์ แตกต่างกัน...!?

พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ หัวหน้าแผนกป้องกันและหัวหน้าหน่วยวิจัยเสิร์ช ศูนย์วิจัยโรคเอดส์สภากาชาดไทย อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างเชื้อ HIV และเอดส์ ว่า ปัจจุบันทางการแพทย์พยายามเปลี่ยนคำว่า ผู้ติดเชื้อเอดส์ มาเป็นผู้ติดเชื้อ HIV มากขึ้น เนื่องจากโดยหลักการ เชื้อ HIV คือ เชื้อไวรัส ซึ่งคนที่ติดเชื้อ HIV โดยส่วนใหญ่จะไม่มีภาวะผู้ป่วย ดังนั้น ทางการแพทย์จึงไม่เรียกว่าผู้ติดเชื้อ HIV ว่า ผู้ป่วย แต่จะใช้เรียกว่า ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV แทน

เชื้อ HIV แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ 1. ระยะแรก เป็นระยะที่ไม่มีอาการ ซึ่งจะเรียกว่า อยู่ในภาวะเริ่มติดเชื้อ และเมื่อเวลาผ่านไป 5-7 ปี จะเข้าสู่ 2. ระยะที่สอง เรียกว่า ระยะเริ่มมีอาการ จะมีลักษณะของตุ่มขึ้นตามร่างกาย มีเชื้อราในปาก งูสวัด เป็นต้น และหลังจากระยะที่สอง จะใช้เวลาเพียง 1-2 ปี ก็จะเข้าสู่ 3. ระยะที่สาม ซึ่งเป็นขั้นรุนแรง จะเรียกว่า ระยะเอดส์เต็มขั้น เนื่องจากในระยะนี้ ภูมิคุ้มกันจะตกค่อนข้างรวดเร็ว และจะมีอาการ เช่น เชื้อราขึ้นสมอง วัณโรค ต่อมน้ำเหลืองกระจายทั่วร่างกาย ปอดอักเสบ หรือเชื้อไวรัสขึ้นจอตาถึงขั้นตาบอด เป็นต้น ซึ่งระยะนี้ ผู้ติดเชื้อเอดส์ จะค่อนข้างป่วยหนักถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาล 

 
พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ หัวหน้าแผนกป้องกันและหัวหน้าหน่วยวิจัยเสิร์ช ศูนย์วิจัยโรคเอดส์สภากาชาดไทย
เสี่ยงคืออะไร? ใครบ้างคือผู้มีความเสี่ยง...  

ทั้งนี้ เชื้อ HIV สามารถติดต่อกันได้ 3 ช่องทาง ดังนี้ 
1. ทางเพศสัมพันธ์ แม้จะเป็นการมีเพศสัมพันธ์เพียงครั้งเดียวในชีวิต หรือมีเพศสัมพันธ์กับสามีและภรรยาของตนเองก็ตาม หากไม่มีการป้องกันในขณะที่มีเพศสัมพันธ์ก็ถือว่าเป็นผู้มีความเสี่ยง เนื่องจากจะไม่มีทางรู้ได้ว่าสามีหรือภรรยาของเรานั้น เคยมีเพศสัมพันธ์กับใครมาก่อน เพราะฉะนั้นหากใครคิดว่าตนเองมีพฤติกรรมที่เสี่ยงไม่มากนัก ก็ควรตรวจเลือดสักครั้งในชีวิต แต่หากรู้ตัวว่าพฤติกรรมเสี่ยงสูง ก็ควรตรวจปีละ 1 ครั้ง
2. ทางเลือด จะเป็นการติดต่อกันจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เช่น เข็มฉีดยาเสพติด เข็มฉีดโบท็อกซ์  เข็มฉีดฟีลเลอร์ หรือแม้แต่ใช้เข็มฉีดร่วมกันเอง เป็นต้น
3. จากแม่สู่ลูก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคที่จะไม่มีเด็กที่ติดเชื้อจากแม่อีกต่อไป แต่อาจเหลือเพียงส่วนน้อยหรือแทบจะเป็น 0% แล้ว ซึ่งที่กำลังเป็นปัญหาและเกิดขึ้นอยู่คือ เด็กที่คลอดจากแม่ต่างด้าว 

 
ทางเลือด จะเป็นการติดต่อกันจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน

พญ.นิตยา กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ยินยอมที่จะตรวจเลือด คือ หลายคนมักคิดว่าตัวเองไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง เพราะไม่ได้สำส่อน ฉะนั้นจึงต้องให้ความรู้กันใหม่ว่า หากคุณคือผู้ที่มีความเสี่ยงเพียงครั้งเดียวในชีวิต ก็ควรตรวจเลือดหาเชื้อ HIV เพราะหากตรวจพบว่าเลือดเป็นบวก จะได้รีบเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทัน หากเลือดเป็นลบก็จะได้ทราบถึงวิธีป้องกันต่อไป เพราะฉะนั้น ณ ปัจจุบัน ไม่ว่าผลตรวจเลือดจะเป็นบวกหรือลบ ล้วนเป็นสิ่งที่ดีทั้งสิ้น ขอแค่อย่ากลัวที่จะเดินเข้ามาตรวจเลือด

“สำหรับในช่วงระยะ 5 ปีมานี้ พบว่า แทบจะไม่พบผู้ป่วยระยะเอดส์เลย เนื่องจากจะพูดกันอยู่เสมอว่า เมื่อมีภาวะความเสี่ยงเกิดขึ้น ให้รีบตรวจเลือด และหากตรวจพบเชื้อ HIV อยู่ในเลือด จะต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาและกินยาต้านไวรัสทันที โดยไม่ต้องรอให้ภูมิคุ้มกันตกไปสู่ระยะเอดส์เต็มขั้น เพราะฉะนั้นหากผู้ติดเชื้อ HIV รู้ตัวเร็ว ได้รับการรักษาและกินยาต้านไวรัสอย่างทันท่วงที ก็จะไม่นำไปสู่ระยะที่สองและระยะที่สามเกิดขึ้น” พญ.นิตยา กล่าว

 
ความแตกต่างระหว่างเชื้อ HIV กับ เอดส์
ทำความรู้จัก! ยาต้านไวรัส คืออะไร? ผลข้างเคียงมากน้อยแค่ไหน...

พญ.นิตยา กล่าวถึงความสำคัญของการกินยาต้านไวรัสว่า ยาต้านไวรัสที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นแนวทางการรักษาของประเทศไทย สามารถเบิกได้ตามสิทธิ์การรักษาทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นบัตรทอง ประกันสังคม หรือข้าราชการ ซึ่งสูตรของยาต้านไวรัสที่นิยมโดยทั่วไป ประกอบไปด้วย สูตรยาชื่อ Zidovudine (AZT) + Lamivudine (3TC) + Nevirapine (NVP) ซึ่งเป็นสูตรเดียวกับที่ “พละ” (ซีรีส์ ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น ซีซั่น 3) กินวันละ 2 ครั้ง โดยข้อดีของสูตรนี้คือ จะไม่มีอาการมึนเมา เหมาะกับคนวัยทำงาน นักศึกษา และนักเรียน และอีกสูตรที่ใช้กันโดยทั่วไปคือ Tenofovir (TDF) + Lamivudine (3TC) + Efavirenz (EFV) กินวันละ 1 ครั้ง ซึ่งผลข้างเคียงของยาสูตรนี้คือ จะต้องระมัดระวังเรื่องของการเกิดผื่น และมึนงง ในระยะเดือนแรก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากระบวนการรักษาด้วยยาต้านไวรัสในปัจจุบันจะถูกพัฒนาไปแล้ว แต่เนื่องจากคนส่วนใหญ่ก็ยังคงติดภาพกับยาต้านไวรัสในสมัยก่อน ที่จะมีผลข้างเคียง เช่น ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ผิวคล้ำ แก้มตอบ และไขมันย้ายที่ ทำให้เกิดความกลัวที่จะกินยาต้านไวรัส

ทั้งนี้ การเลือกกินยาต้านไวรัส ไม่ว่าจะเป็นสูตรใดก็ตาม ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ไม่ว่าผู้ติดเชื้อ HIV ในระยะเริ่มแรกหรือรุนแรงถึงขั้นระยะเอดส์ สามารถเลือกกินยาสูตรเดียวกันได้ แต่สิ่งสำคัญคือ เรื่องวินัยการกินยา อย่างสม่ำเสมอและตรงเวลา เช่น สูตรวันละ 1 ครั้ง ต้องกินทุก 24 ชั่วโมงตรง และสูตรวันละ 2 ครั้ง กินทุก 12 ชั่วโมงตรง หากลืมหรือเวลาคลาดเคลื่อนไป นึกขึ้นได้เมื่อไรต้องกินทันที และเริ่มนับเวลาใหม่ ดังนั้น หากมีวินัยในการกินยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลา ก็แทบไม่มีโอกาสที่จะดื้อยา 

 
"พละ" ต้องตั้งเวลาปลุก 2 ครั้งต่อวัน เพื่อทานยาต้านไวรัสให้ตรงเวลา ทุก 12 ชม.
 
"พละ" หนุ่มผู้มีวินัย อยู่ในกรอบ
หมายความว่า กินยาต้านไวรัส แล้ว...จะทำให้เชื้อ HIV หายขาดเลยหรือ? 

หัวหน้าแผนกป้องกันและหัวหน้าหน่วยวิจัยเสิร์ช ศูนย์วิจัยโรคเอดส์สภากาชาดไทย อธิบายเพิ่มเติมว่า กระบวนการของเชื้อ HIV เข้าสู่ร่างกายเริ่มจากในระยะแรก เชื้อเหล่านี้จะเข้าไปหาแหล่งที่อยู่ในร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลือง สมอง ลำไส้ และผนังลำไส้ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปเชื้อเหล่านี้ก็จะสะสมและมีการสร้างเชื้อออกมาเรื่อยๆ ฉะนั้นจึงต้องมีการกินยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยกดทับเชื้อ HIV ที่อยู่ในเลือดให้อยู่ในระดับที่ไม่สามารถตรวจพบได้อีก แต่อย่างไรก็ตาม ยาต้านไวรัสไม่ได้ถึงขั้นช่วยให้เชื้อหายเกลี้ยงไปจากร่างกายเพราะยาต้านไวรัสไม่สามารถแทรกซึมเข้าไปจัดการกับต่อมน้ำเหลือง สมอง และลำไส้ได้หมด ฉะนั้น หากมีการหยุดยา เชื้อ HIV ก็จะกลับเข้าสู่เลือดได้อีก ดังนั้น เชื้อ HIV จะไม่หมดไปจากร่างกาย เพียงแต่กระบวนการรักษาจะสามารถคุมเชื้อได้ 

พญ.นิตยา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันทางการแพทย์ทั่วโลก กำลังทำการวิจัยในเรื่องการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV กันอย่างเข้มข้น โดยมีการคาดหวังว่าในอนาคตกระบวนการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV จะสามารถกำจัดเชื้อหรือปลอดเชื้อออกไปจากร่างกายได้หมด หรือเรียกว่า รักษาเชื้อไวรัส HIV ให้หายขาด (CURE) ด้วยการตัดชิ้นเนื้อในต่อมน้ำเหลือง สมอง และลำไส้ มาส่องดู โดยจะต้องไม่มีเชื้อไวรัส HIV อยู่เลย ซึ่งเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างทำได้ยาก ดังนั้นในปัจจุบันกระบวนการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV จึงต้องพุ่งเป้าให้อยู่ใน “ระยะสงบ” แทน

 
พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์

“เพราะฉะนั้น ถามว่าจะต้องมีการกินยาต้านไวรัสไปจนถึงเมื่อไรนั้น เคยมีการทำวิจัยในต่างประเทศ โดยการนำผู้ติดเชื้อ HIV มาทดสอบ โดยให้กินยาต้านไวรัสเป็นระยะเวลา 3 ปี แล้วหยุด ผลปรากฏว่า ผู้ติดเชื้อร้อยละ 10-15 ตรวจไม่พบเชื้อ HIV อยู่ในเลือดแล้ว แต่ก็ยังคงมีเชื้อ HIV หลงเหลืออยู่ในส่วนของต่อมน้ำเหลืองและสมองอยู่บ้าง ซึ่งสามารถอยู่ร่วมได้ ลักษณะนี้เรียกว่าระยะสงบ” พญ.นิตยา ระบุ 

ทั้งนี้ จะรู้ได้อย่างไรว่า ถึงเวลาที่ผู้ติดเชื้อ HIV สามารถหยุดกินยาต้านไวรัสได้...? พญ.นิตยา กล่าวว่า ไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากระยะของการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV โดยทั่วไป จะมีแนวโน้มที่ดีได้ ผู้ติดเชื้อ HIV ต้องกินยาต้านไวรัส หลังจากรู้ตัวไม่เกิน 2 เดือน และกินไปอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป จึงจะสามารถมาพิจารณาต่อไปได้ว่า ยาต้านไวรัสสามารถกดทับเชื้อได้สนิทแล้วหรือไม่ หรือเข้าสู่ระยะสงบหรือคุมเชื้อได้ 

 
"พละ" หนุ่มผู้มีวินัย ตรงต่อเวลา และดูแลตัวเองเป็นอย่างมาก
สิ่งที่หลายคนอยากรู้! ผู้ติดเชื้อ HIV มีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่?

พญ.นิตยา ไขข้อข้องใจให้ฟังว่า ปัจจุบันไม่ได้มีข้อห้ามเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ มีแฟน หรือแต่งงาน ในผู้ที่ติดเชื้อ HIV เนื่องจากการกินยาต้านไวรัส ภายในระยะเวลา 6 เดือน หรือ 12 เดือน พบว่า ผลการตรวจเลือดแทบจะ 100% นั้น ไม่มีเชื้อ HIV อยู่ในเลือดแล้ว เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะถ่ายทอดเชื้อไปให้คนอื่นแทบเป็นศูนย์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่ต้องใส่ถุงยางอนามัย เพราะอย่างไรก็ดี สิ่งที่ยังคงน่าวิตกกังวลอีกเรื่องคือ การถ่ายทอดหรือรับเชื้ออื่นเข้ามาร่วมด้วย เช่น หนองใน หนองในเทียม ซิฟิลิส ฯลฯ   

 
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ HIV ประมาณ 10,000 คนต่อปี โดยอันดับ 1 คือ ติดเชื้อมาจากการมีเพศสัมพันธ์
หมดห่วง! แพลนอย่างไรให้เชื้อ HIV ไม่ตกสู่ลูก...?

พญ.นิตยา กล่าวต่อว่า ผู้ติดเชื้อ HIV ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย เมื่อแต่งงานและวางแผนจะมีลูกด้วยกัน ก็สามารถทำได้ ตามวิธีต่างๆ ดังนี้ ในกรณีที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายติดเชื้อ HIV วิธีที่ 1 คือ ผู้หญิงจะต้องกินยาต้านไวรัสให้เชื้อถูกกดทับลงไปสนิท หรือไม่พบเชื้อ HIV ในเลือดอีก จากนั้นสามารถมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ต้องใส่ถุงยางอนามัย เพื่อให้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก่อนมีเพศสัมพันธ์ ผู้ชายก็ต้องกินยาป้องกันเชื้อ HIV ชื่อว่า “PrEP” ควบคู่ไปด้วย โดยกินวันละ 1 เม็ด ก่อนมีเพศสัมพันธ์ 2-3 สัปดาห์ และหลังมีเพศสัมพันธ์ 3-4 สัปดาห์ เพื่อป้องกันเชื้อ HIV จากฝ่ายหญิง ส่วนวิธีที่ 2 คือ เก็บน้ำเชื้ออสุจิของผู้ชาย และฉีดเข้าไปในช่องคลอดผู้หญิง สำหรับกรณีที่ผู้ชายเป็นฝ่ายติดเชื้อ HIV วิธีที่ 1 คือ นำน้ำเชื้ออสุจิมาปั่นล้าง และตรวจก่อนว่าไม่มีเชื้อ HIV แล้ว จึงจะสามารถฉีดเข้าไปในช่องคลอดผู้หญิงเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ขึ้น อย่างไรก็ตาม ลูกจะได้รับเชื้อ HIV ด้วยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผู้หญิง หากผู้หญิงไม่มีเชื้อ ลูกก็จะไม่ได้รับเชื้อแน่นอน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ ต้องป้องกันไม่ให้ผู้หญิงติดเชื้อจากผู้ชายในระหว่างมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน ซึ่งปัจจุบันก็มีคู่รักหลายร้อยคู่ที่มีลูกกันด้วยวิธีต่างๆ เหล่านี้ ฉะนั้นจะเห็นว่า การติดเชื้อ HIV ไม่ได้เป็นปัญหาในการมีลูกหรือทำลายชีวิตคู่ 

 
ผู้ติดเชื้อ HIV สามารถมีลูกได้ โดยที่เชื้อไม่สู่ลูก
ดื่มน้ำร่วมแก้ว กินอาหารร่วมช้อน กับ ผู้ติดเชื้อ HIV ได้หรือไม่?

นอกจากนี้ ปัญหาอีกอย่างที่หลายคนยังคงสงสัย คือ ผู้ติดเชื้อ HIV จะสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติหรือไม่? พญ.นิตยา อธิบายให้ฟังว่า หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ที่ยังไม่มียาต้านไวรัส ผู้ที่รู้ตัวว่าติดเชื้อ HIV จะเครียดและกังวลว่าจะสามารถอยู่ได้อีกกี่ปี เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจใหม่ว่า ในข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ติดเชื้อ HIV สามารถมีอายุไขเท่ากับผู้ที่ไม่มีเชื้อ ขึ้นอยู่กับว่า รู้ตัวเร็ว และเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็วหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ดังนั้น การที่ผู้ติดเชื้อ HIV รู้ตัวเร็ว กินยาต้านไวรัสได้เร็ว ก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ 

อย่างไรก็ตาม การติดต่อของเชื้อ HIV ยังคงติดต่อ 3 ทางเท่านั้น คือ ทางเพศสัมพันธ์ เลือด และแม่สู่ลูก นอกเหนือจากนั้นไม่ใช่วิธีการของการจะติดเชื้อที่จะเกิดในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นการรับประทานอาหารช้อนเดียวกัน ดื่มน้ำร่วมแก้ว การจูบ หรือแม้แต่ยุงกัดผู้ติดเชื้อ HIV แล้วไปกัดอีกคน ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ปัจจัยหรือสาเหตุให้มีการติดเชื้อ HIV เกิดขึ้น

 
การรับประทานอาหารช้อนเดียวกัน ดื่มน้ำร่วมแก้ว หรือแม้แต่การจูบ ไม่ใช่ปัจจัยหรือสาเหตุให้มีการติดเชื้อ HIV เกิดขึ้น
กลัวสัตว์ ไม่แตะต้องสัตว์ ข้อห้ามของผู้ติดเชื้อ HIV !?

จากกรณีที่ “พละ” มีพฤติกรรมไม่กล้ายุ่งกับสัตว์ กลัวสัตว์ พฤติกรรมดังกล่าว เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ HIV ด้วยหรือไม่? “ผู้ติดเชื้อ HIV สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ เนื่องจากผู้ติดเชื้อไม่มีความเกี่ยวข้องกับการติดโรคจากสัตว์ แต่สำหรับผู้ที่ติดเชื้อ HIV ในระยะที่สองและสาม อาจมีความกังวลในเรื่องของความสะอาดได้ง่าย เนื่องจากในระยะนี้ภูมิคุ้มกันจะต่ำลง แต่โดยทั่วไปผู้ที่ติดเชื้อ HIV สามารถเล่นกับสัตว์ได้ แต่ควรล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารเช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป ดังนั้นเรื่องของการสัมผัสสัตว์ ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ HIV โดยตรง” พญ.นิตยา กล่าว

เชื้อ HIV ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด “ถ้ารู้เร็ว ก็สามารถดูแลตัวเองได้เร็ว” 

พญ.นิตยา กล่าวถึงแนวทางการป้องกันการติดเชื้อ HIV ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ HIV ประมาณ 10,000 คนต่อปี โดยอันดับ 1 คือ ติดเชื้อมาจากการมีเพศสัมพันธ์ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการรณรงค์และเตือนกันอยู่เสมอว่า วิธีพื้นฐานและสามารถป้องกันได้ดีก็คือ การใช้ถุงยางอนามัยในขณะที่มีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง ดังนั้นการตรวจเลือดจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากรู้ตัวเร็ว เข้าสู่การรักษาได้เร็ว ก็ไม่มีทางที่เชื้อจะกระจายไปสู่ระยะที่สองและสามได้แน่นอน แต่สิ่งที่คนทั่วไปยังเข้าใจผิดกันอยู่ก็คือ ต้องรอให้มีความเสี่ยงไปแล้วระยะหนึ่ง หรือประมาณ 3 เดือนก่อน จึงไปตรวจเลือดและเข้าสู่กระบวนการรักษา ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก ฉะนั้นหากรู้ตัวว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงปุ๊บ จะต้องตรวจเลือดทันที 

 
“ถ้ารู้เร็ว ก็สามารถดูแลตัวเองได้เร็ว” พญ.นิตยา กล่าว

“ทั้งนี้ แม้ผลเลือดจะพบว่า ระดับภูมิคุ้มกันตก จนเชื้อ HIV ถึงขั้นเข้าสู่ระยะที่สองและสามแล้ว แต่กระบวนการรักษาโดยการกินยาต้านไวรัสในปัจจุบัน ก็สามารถฟื้นกลับมาสู่ภาวะสงบได้ เพราะเชื้อเหล่านี้ สามารถย้อนจากระยะที่สามมาสู่ระยะที่สองและหนึ่งได้ แต่อาจมีบางรายที่ป่วยหนักถึงขั้นเชื้อราขึ้นสมอง กรณีนี้ก็ยากที่จะเยียวยาเช่นเดียวกับโรคอื่นๆ แต่ก็เกิดขึ้นเป็นส่วนน้อย เพราะฉะนั้น เชื้อ HIV ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด” พญ.นิตยา กล่าวทิ้งท้าย

ดังนั้น เห็นแล้วว่าเชื้อไวรัส HIV นั้น ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด “ถ้ารู้เร็ว ก็สามารถดูแลตัวเองได้เร็ว” แต่อย่างไรก็ดี หากเป็นไปได้ อย่านำตัวเองเข้าไปอยู่ในภวังค์ความเสี่ยง และปล่อยให้เชื้อไวรัสที่ไม่มีใครมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ มาทำลายสุขภาพจิตและประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตเลย...

ขอบคุณภาพประกอบจาก : www.gth.co.th

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้