สำรวจรัฐธรรมนูญฉบับมืออาชีพ : สนองปรองดอง-ปฏิรูป
นำเข้าเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2558 โดย จุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58553]  

.....

 

ลับบทบาทไปมาหลายรัฐบาลตั้งแต่ปี 2517 จนถึงปัจจุบัน ระหว่างเป็นนักกฎหมายที่ยืนอยู่ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ก่อนไปเปิดคลินิกไขข้อข้องใจในเรื่องกฎหมายและการเมืองผ่านเว็บไซต์มีชัย

โดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสมาชิกคสช. ให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง ว่า เริ่มคิดตั้งแต่มีกระแสข่าวถูก คสช.ทาบทามให้มานั่งเป็นประธาน กรธ.ว่าจะรับดีหรือไม่

เพราะชีวิตคนธรรมดาลงตัวแล้ว ทำงานตามอาชีพก็สุขสบายดี เดินทางไปไหนสบายๆ ทำไมจะต้องไปลำบากอีก เมื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรองหัวหน้า คสช. ได้มาทาบทามก่อนที่พูดคุยกับนายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.)

ก็คิดหนักอยู่ พอพูดคุยกับนายกฯ ได้ถามตรงๆว่า จำเป็นขนาดไหน ท่านก็บอกว่าจำเป็นมาก ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ท่านพูดเท่านั้น ผมก็ไม่ไปซักไซ้ต่อ เชื่อในดุลพินิจของท่าน ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง มีหน้าที่ต้องให้ความร่วมมือตามกำลังความสามารถ ไม่อาจจะเห็นแก่ความสุข ความสบายที่ชักจะเริ่มเคยตัว

และไม่อยู่ในฐานะที่จะปฏิเสธได้ ไม่เช่นนั้นจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่รู้จักทดแทนบุญคุณของแผ่นดิน

รู้ดีว่างานครั้งนี้ไม่ใช่ง่าย คงมีอุปสรรคไม่น้อย ก็ต้องอดทนและตั้งใจทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

แต่คนก็คาดเดากันไปต่างๆนานาว่า ในที่สุดคงไม่เป็นตัวของตัวเอง คงร่างไปตามที่มีผู้สั่ง ขอเรียนว่าการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปใช้กับคนทั้งประเทศ มีกรอบกำหนดไว้ตามมาตรา 35 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ขอยืนยันว่าผมอยู่ใน คสช. คสช.ไม่เคยมีพิมพ์เขียว จนผมหงุดหงิดว่าจะเอาอย่างไรทำไมไม่บอกเขาไป คสช.ไม่เคยประชุมกันในเรื่องนี้

แต่ที่มีกรอบการร่างรัฐธรรมนูญตามความมุ่งหมายของ คสช.ออกมา 5 ข้อ ก็เกิดจากก่อนหน้านี้ผมรู้ว่าคนกลัวว่า คสช.จะสั่ง เลยขอร้องให้คสช.สั่งมาตั้งแต่แรก สังคมจะได้เห็นว่าเราจะเอาแบบนี้ โดยผมได้คิดเอาไว้และก็คุยกับนายกฯว่าจะเอากรอบแบบนี้ๆ ท่านก็ตกลงตามนี้

มีกรอบการร่างรัฐธรรมนูญข้อไหนที่หนักใจที่สุด นายมีชัย บอกว่า ข้อที่กำหนดให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปฏิรูปและสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นให้ได้

โดยเฉพาะการปรองดองเป็นเรื่องที่ทำยาก เพราะถ้าไม่รู้ว่าทะเลาะกันด้วยเรื่องอะไร จะทำให้เกิดการปรองดองได้อย่างไร เคยมีใครศึกษาหรือไม่ว่าเราทะเลาะกันเรื่องอะไร หวังว่า 20 กรธ.จะนึกออกและคงต้องไปหารือกันในที่ประชุม กรธ.ว่าจะเอาอย่างไร

ไปมองที่ความเหลื่อมล้ำและชนชั้นในสังคมที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง นายมีชัยบอกว่า ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นเพราะระบบเศรษฐกิจที่เราตกเป็นเหยื่อของนักการเงิน คนมีทุนเยอะจะเห็นหนทางได้เงิน ทำให้ได้เปรียบ

ขณะที่เรื่องชนชั้น เป็นเพียงวาทกรรม ถ้าเช่นนั้นพ่อและแม่กับเราก็เป็นชนชั้น นั่นคือวัฒนธรรม ซึ่งสังคมตะวันตกไม่เข้าใจ ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า ประเทศในยุโรปเขาสามารถตบหัวประธานาธิบดีได้ แต่หากใครตบหัวพ่อของเรา เราต่อยได้ก็ต่อยเลย

บางอย่างฝรั่งไม่เข้าใจเรา เราก็ไม่เข้าใจฝรั่งในบางเรื่อง ฉะนั้นถ้าต่างชาติมาขอให้เราเข้ามาตรฐานของตะวันตกอย่างนู้นอย่างนี้ แล้วชาติตะวันตกจะยอมรับเรา ก็คงไม่ใช่

เพราะพื้นฐานของเราไม่ได้สร้างคนแบบประชาธิปไตยตะวันตก คนไทยยังเป็นคนไทย เมื่อเอากลไกของตะวันตกมาก็ไม่ค่อยถูกฝาถูกตัวนัก จึงมีปัญหาแบบนี้

ที่ผ่านมาเคยพูดกับสถาบันพระปกเกล้า ควรทำการวิจัยแบบทั่วถึงพื้นที่ว่าสภาพการเมือง สังคม ความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อออกแบบประชาธิปไตยให้เหมาะสมกับสภาพของสังคมไทย สุดท้ายก็ไม่ได้ทำ

พอถึงจังหวะจะทำร่างรัฐธรรมนูญทุกครั้งล้วนมีเวลาจำกัด ก็ไปหยิบประชาธิปไตยแบบตะวันตกมา ปรากฏว่าสิ่งที่ปฏิบัติกันในนานาชาติ

เช่น การลาออกจากตำแหน่งทางการเมือง แต่ของไทยสิ่งแรกที่คิด คือ จะหลีกเลี่ยงการลาออกตำแหน่งทางการเมืองได้อย่างไร เมื่อเป็นคนที่ไม่มีวินัยย่อมส่งผลต่อกติกา

ฉะนั้นการออกรัฐธรรมนูญให้เข้ากับสภาพสังคมไทยและเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ จะต้องให้ 21 กรธ.ช่วยกันคิดโดยยึดหลักสากล ไม่ได้แปลว่าจะต้องลอกเขามา

และจะมีทีมไปศึกษารัฐธรรมนูญย้อนไปฉบับปี 17 จนถึงร่างของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อดูประเด็นที่คงเส้น คงวา ไม่เคยมีปัญหา ก็นำมาใช้เลย

ขณะที่ประเด็นจะเอานายกฯคนนอกหรือไม่ ถ้ามองในแง่ทฤษฎีของความถูกต้อง ผมจำเป็นต้องบอกคุณไหมว่า คุณต้องเลือกภรรยาแบบไหน ก็ไม่ต้อง คุณก็เลือกของคุณ

เฉกเช่น ส.ส.เป็นคนเลือกนายกฯ หาก ส.ส.ไปเลือกคนนอกเป็นนายกฯ จะหมายความว่าอย่างไร ใครเอาปืนไปจี้หัวให้คุณเลือกหรือไม่

ที่ผ่านมาเป็นบทเรียน เวลาเขียนรัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึงสภาพสังคมไทย ตอนปี 34 ที่ให้อำนาจและไว้ใจ ส.ส.มากเกินไป ลืมนึกไปว่า ส.ส.ขายตัวได้ ฉะนั้นจะต้องกลับมาคิดว่าวันนี้เราไว้ใจ ส.ส.ได้หรือยัง

ข้อเท็จจริงที่บอกกันว่าปี 34 เกิดวิกฤติรัฐธรรมนูญ จริงๆไม่ใช่ มันเกิดวิกฤติเพราะมีประชาชนออกมาต่อต้านคุณสุจินดา (พล.อ.สุจินดา คราประยูร) ซึ่งเคยประกาศว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกฯ ขณะนั้นสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นคนเลือกนายกฯ ไม่ได้บังคับว่าเลือกมาจากไหน

และพยายามบีบให้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อกันคุณสุจินดาเข้ามาเป็นนายกฯ พอคุณสุจินดาลาออกจากนายกฯ และแก้รัฐธรรมนูญเสร็จ ก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ 3 วัน สภาผู้แทนราษฎรก็เลือก ส.ส.คนหนึ่งขึ้นเป็นนายกฯ

แต่ปรากฏว่า ส.ส.คนนี้ไม่ได้เป็น กลายเป็นคุณอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งไม่ได้เป็น ส.ส.ได้เป็นนายกฯ ประชาชนทั้งประเทศไชโย สะท้อนให้เห็นว่าแล้วคืออะไร ไหนคุณบอกว่าต่อสู้เพื่อไม่ให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกฯ

ถือเป็นบุญที่รัฐธรรมนูญยังไม่ได้ประกาศใช้ จึงได้คุณอานันท์เป็นนายกฯ หากรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วก็จะได้ ส.ส.คนนั้นขึ้นเป็นนายกฯแทน

มาถึงรัฐธรรมนูญปี 40 ทุกคนชอบ เพราะกำหนดไว้ว่าหากเป็นนายกฯต้องลาออกจาก ส.ส. แปลว่าคุณไม่อยากให้คนที่ทำงานควบคุมตัวเองด้วย มาทุกวันนี้คนยังบอกว่ารัฐธรรมนูญปี 40 ดีที่สุด

ตกลงคุณไม่ชอบนายกฯคนนอกหรือไม่ชอบคุณสุจินดา หากไม่ชอบนายกฯที่ไม่เป็น ส.ส.ทำไมคุณไชโยเมื่อได้คุณอานันท์ ที่พูดไม่ได้หมายความว่าจะ
ไปเขียนแบบนั้น

จะทำอย่างไรในเมื่อง คสช.ต้องการให้คงมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.) นายมีชัย บอกว่า จะต้องไปดูก่อนว่า คปป.จะมีหรือไม่ ข้อดี ข้อเสียเป็นอย่างไร สังคมรังเกียจอะไร

วันนี้ กรธ.พร้อมรับฟังความเห็นจากทุกส่วน ประชาชนหรือใครคิดอะไรออกขอให้เสนอมาได้ทุกช่องทาง อย่าเป็นเพียงคนดูเฉยๆ ทุกคนต้องช่วยกัน

ขอให้ทุกคนคิดว่ากติกา นี้มีผลต่อทุกคน การเห็นต่างไม่ได้แปลว่าผิด หากตรงไหนไม่เห็น ด้วยก็เสนอข้อแตกต่างเข้ามา แต่อย่ามาด่ากันว่าแบบนี้ไม่ดี แบบนั้นไม่ดี ต้องหยุดความแค้นและมาช่วยกัน

วันนี้มีอุปสรรคอะไรบ้างที่เป็นห่วง นายมีชัย บอกว่า การจะให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหาในตัวร่างเป็นงานที่ยาก ฉะนั้นจะใช้ทุกวิถีทางชี้แจงกับสังคม เช่น ใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อกระตุ้นคนหนุ่มสาว

ทีมข่าวการเมือง ถามว่า กรธ.มีแค่ 21 คน เมื่อร่างเสร็จเพียงแค่แจ้งให้ ครม.ทราบก่อนนำไปลงประชามติ ร่างจะเสร็จสมบูรณ์และรอบคอบในทุกประเด็นได้อย่างไร นายมีชัย บอกว่า เราจะตั้งผู้ที่ไม่เคยอ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาก่อน เพื่อช่วยกลั่นกรองและให้กลับมารายงานต่อ กรธ.

แต่จะเป็นครั้งสุดท้ายของการร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายมีชัยบอกว่า อยากให้เป็นแบบนั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับทุกคนที่จะช่วยกันคนละไม้ละมือ เพื่อทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้

มีความกดดันอย่างไรเมื่อสังคมคาดหวังมากกับคนที่ชื่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายมีชัย บอกว่า เป็นเคราะห์ร้ายของผม เหมือนจะไปต่อยกับเขาแต่แพ้ไม่ได้ ผมก็ตัวสั่นตั้งแต่ก่อนขึ้นเวทีแล้ว

ขอให้เข้าใจว่าผมเป็นคนธรรมดา บางเรื่องอาจจะคิดไม่เหมือนคนอื่น แต่ไม่ได้มีเจตนาหวังร้าย

ฉะนั้นในเมื่อมีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะทำออกมาให้ดีที่สุด สุดท้ายเป็นหน้าที่ของประชาชน...

...จะตัดสินใจโดยลงประชามติ.

 

ทีมการเมือง

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้