ทาสประเมินกระดาษ
นำเข้าเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2558 โดย จุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58593]  

“ธีระเกียรติ”ตั้งธงเลิกเป็นทาสประเมินกระดาษ .....

รมช.ศึกษาธิการ เตรียมหารือหน่วยประเมิน ขอยกเลิกการประเมินที่เน้นเอกสาร พร้อมปรับลดตัวชี้วัดให้น้อยลง ขณะที่การประเมินฯรอบสี่ยังไร้ข้อสรุป ชี้ออนไลน์ยังไม่ตอบโจทย์ลดกระดาษที่แท้จริง

วันนี้ (23 ก.ย.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวบรรยายพิเศษตอนหนึ่งเรื่อง “ทิศทางการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย และการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” ในงานสัมมนาเรื่อง “ทิศทางการบริหารและการขับเคลื่อนการพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา(มร.สส.) ระยะ 15 ปี (พ.ศ.2559-2563) ที่ มร.สส.ว่า ที่ผ่านมามีหนังสือร้องเรียนมาถึงตนจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องการประเมินคุณภาพการศึกษาต่างๆ ทั้งการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา และการประเมินคุณภาพภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) เนื่องจากสร้างภาระงานด้านเอกสารให้แก่ครูอาจารย์เป็นอย่างมาก ซึ่งตนได้นำเรื่องนี้ไปหารือกับ รมว.ศึกษาธิการในเบื้องต้นแล้ว และมีความเห็นตรงกันว่า ควรต้องยกเลิกการประเมินแบบเดิมที่เต็มไปด้วยกระดาษ รวมทั้งปรับลดตัวชี้วัดในการประเมินให้น้อยลง เพราะเวลานี้การประเมินต่างๆ มีตัวชี้วัดเป็นร้อยซึ่งถือว่ามากเกินไป และในเร็วๆ นี้ตนจะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินเพื่อหาทางออกต่อไป

“ตัวชี้วัดที่ดีต้องมีเพียงไม่กี่ตัว แต่สามารถสะท้อนคุณภาพที่แท้จริงได้ และต้องทำให้ผู้ถูกประเมินทราบว่าที่ปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้มาถูกทางหรือไม่ที่จะเดินไปสู่เป้าหมาย ไม่ใช่วัดหลายร้อยชนิด อะไรวัดได้ก็นำมาวัดทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาการประเมินก็ยังไม่ได้ช่วยให้การพัฒนาการศึกษาเป็นไปในทางที่ดีขึ้น คุณภาพการศึกษาของเด็กไทยยังต่ำลง นอกจากนี้ยังสร้างภาระงานด้านเอกสารให้แก่ครูอาจารย์อีกด้วย ดังนั้น ศธ.จะพยายามประกาศวันเลิกทาสกระดาษ และปรับตัวชี้วัดให้เหลือน้อยลง”รมช.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า สำหรับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (ปีงบประมาณ 2559-2563) ของ สมศ. นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ส่วนที่จะมีการปรับการประเมินเป็นรูปแบบออนไลน์ เพื่อลดภาระงานเอกสารนั้น คงต้องหารืออีกครั้ง เพราะตนคิดว่าออนไลน์ไม่ได้ช่วยลดกระดาษอย่างแท้จริง แต่กลับต้องใช้กระดาษมากขึ้น เพราะการเก็บข้อมูลทางออนไลน์ไม่ยั่งยืน ซึ่งผู้ประเมินและถูกประเมินก็ต้องพิมพ์มาเป็นเอกสารเก็บไว้เป็นหลักฐาน.

 

 ยุบ 'สทศ.' ทิ้ง อยู่ไปก็ไร้ค่า!

16 พฤศจิกายน 2553 19:01 น.

จะให้อยู่หรือไปก็บอกมา ยุบ 'สทศ.' ทิ้ง อยู่ไปก็ไร้ค่า!

 
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
จะให้อยู่หรือไปก็บอกมา ยุบ 'สทศ.' ทิ้ง อยู่ไปก็ไร้ค่า!

จะให้อยู่หรือไปก็บอกมา ยุบ 'สทศ.' ทิ้ง อยู่ไปก็ไร้ค่า!

“ยุบ สทศ. ทิ้ง! อยู่ไปก็ไร้ค่า” คำพูดท้าทายและเป็นที่ฮือฮาเรียกร้องความสนใจได้ดีกับประโยคตัดพ้อของ ศ.ดร. อุทุมพร จามรมาน รักษาการผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) หยอดไว้ในปลายเรื่องกับระบบการศึกษาไทย
       
       และบอกว่ารู้สึกสะใจมากกว่าน้อยใจ จึงเสนอให้ยุบสทศ. ทิ้งไปหากไม่ได้ใช้ประโยชน์จากหน่วยงานนี้
       
       “ไม่น้อยใจแต่สะใจ ประเทศชาติเขาไม่ได้แคร์การศึกษา ดีแต่ปาก มีแต่พูดเรื่องการศึกษา แต่ถามดูว่ามีใครลงนั่งทำงานไหม ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่เราเสนอแนะมาตลอดก็คือว่า วิธีเดียวที่จะทำให้โรงเรียนเข้มแข็ง คือ คุณต้องมีข้อมูลแต่ละโรงเรียนว่าเขาขาดอะไร ขาดครูภาษาอังกฤษ ครูพละ ครูคณิตศาสตร์ คุณก็ให้เขาสิ ถ้าให้ไม่ได้ ก็ให้เงินเขาไปจ้าง ทำไมต้องจัดคนให้เขา มันไม่ตรงตามที่เขาต้องการ ชอบทำงานแบบสูตรเดียวทั้งประเทศ ทุกคนใส่เสื้อโหล ไม่ว่าจะต้องการหรือไม่ก็ตาม แต่ละโรงเรียนขาดแคลนต่างกัน มีปัญหาต่างกัน แต่ไม่คิดจะแก้ที่ต้นเหตุ ทำแบบนี้ 20-30 ปีก็ไม่สามารถแก้ได้”
       
       คำพูดฉะฉานของศ.ดร. อุทุมพร ชี้ชัดไปถึงปัญหาของระบบการศึกษาไทยอย่างตรงไปตรงมาและพูดถึงสทศ. อีกว่า
       
       “มีไปทำไม เสียเงินให้เราไปทดสอบเด็กทำไมล่ะ”
       
       ที่มาของการที่จะ...ยุบ!
       
       ต้นเหตุของการหยอดประเด็นให้ยุบ สทศ. ทิ้ง นั้นมาจาก บทบาทของ สทศ. ที่ผ่านมาที่ตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา เพื่อเป็นศูนย์ทดสอบในเรื่องที่นักเรียนควรจะรู้ และทดสอบว่านักเรียนมีความรู้เพียงใด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ มีหน้าที่นำผลทดสอบไปปรับปรุงการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาการศึกษาให้ก้าวหน้า แต่ผ่านไป 5 ปี ปรากฏว่าน้อยโรงเรียนนักที่จะนำผลจากการทดสอบไปปรับปรุงเพื่อพัฒนาความรู้เด็กไทย ที่จะกลายเป็นอนาคตของชาติ
       
       “เราเป็นหน่วยงานที่ชี้วัด เหมือนสภาพัฒน์ เขาชี้เศรษฐกิจประเทศแต่ไม่ต้องลงมือปฏิบัตินี่ เพราะฉะนั้น สทศ. นี่ก็เหมือนกัน หาข้อมูลมาและชี้ให้เห็นว่านักเรียนมีความรู้เพียงใด พอเราชี้แล้ว หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือกระทรวงศึกษาธิการเขาก็ไม่เอาคะแนนเราไปทำอะไร เราชี้แล้วว่านักเรียนอ่อนอะไรบ้าง เราเป็นหน่วยงานมา 5 ปีแล้ว ไม่เห็นหน่วยงานต้นสังกัดตรงๆ ทำอะไร แล้วเมื่อไม่ทำอะไร เราก็คิดว่าจะมีไปทำไม เมื่อชี้แล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น” เป็นความในใจของศ.ดร. อุทุมพร ที่พูดถึงสทศ.และระบบการศึกษา
       
       ศ.ดร. อุทุมพรบอกอีกว่าเป็นเรื่องของการสิ้นเปลืองงบประมาณ หากจะมีการจ้าง สทศ. ให้ทำงานต่อไป โดยไม่นำผลทดสอบที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และหากต้องยุบ สทศ. ทิ้งจริงๆ คงมีอีกหลายหน่วยงานที่ถูกยุบทิ้งเช่นกัน
       
       ที่ผ่านมาเมื่อได้ผลการทดสอบออกมาแล้ว สทศ. ยังได้เสนอแนะแต่ละโรงเรียนในการปรับปรุงข้อด้อยของนักเรียนที่เป็นรูปธรรม แต่ไม่มีอะไรคืบหน้าเลย มีเพียงคำตอบที่ว่า กำลังเอาเข้าที่ประชุม ซึ่งผ่านมาหลายปีแล้ว
       
       “คือเราเกิดตามพระราชกฤษฎีกา หากยุบก็ต้องยุบตามมติครม. ให้รัฐมนตรีเสนอเรื่องเข้า ครม. แล้วยุบ เกิดแล้วก็ยุบได้ ถามตรงๆ เถอะว่าหน่วยงานไหนที่ทำงานดีขนาดนี้ ออกคะแนนตรงเวลา คะแนนไม่ผิดพลาด ออกตารางสอบ รู้ว่าโรงเรียนไหนอ่อนอะไร แบบนี้ควรยุบไหม”
       
       สุดท้ายศ.ดร. อุทุมพรบอกว่า ยุบหรือไม่ยุบ นั่นคือปลายเหตุ
       
       “ถ้ายุบไปจริงๆ ก็ไม่ได้แคร์ ถามว่าหน่วยงานที่ทำงานห่วยกว่าเรา ควรจะยุบไหม มันต้องออกมาในรูปนั้น หน่วยงานที่ทำงานแย่มากๆ กี่หน่วยงานละ การเสนอให้ยุบมันแค่ปลายเหตุ มันเหมือนแดกดัน เสียดสี แต่ก็สามารถเรียกร้องความสนใจได้ คนก็สงสัยว่าจะยุบทำไม ใครไม่นำผลไปใช้ล่ะ แล้วทำไมไม่นำผลไปใช้ จี้กลับไปเลย ว่าทำไมไม่นำผลไปใช้”
       
       จากครูถึงข้อสอบ สทศ.
       
       “มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำการปรังปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนของบ้านเรา ตอนนี้เท่าที่ทำได้ก็คือการให้ครูไปดูแนวข้อสอบแล้วก็นำมาปรับปรุงแนวข้อสอบของตนเอง ส่วนผู้ออกข้อสอบต้องไปวิเคราะห์ข้อสอบของตนด้วยว่า คะแนนของเด็กออกมาต่ำนั้นเป็นเพราะอะไร เป็นการพบกันครึ่งทาง เพราะตอนนี้เขามองว่า ข้อสอบของเขาเป็นมาตรฐานและจะให้ครูมาปรับปรุงหลักสูตร”
       
       พรสุดา วีระเดชชูชีพ อาจาย์แนะแนว โรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่งในต่างจังหวัด แสดงความคิดเห็นส่วนตัว เกี่ยวกับเรื่องของหลักสูตรการเรียนการสอนแบบดั้งเดิม และข้อสอบ GAT/PAT ที่ทาง สทศ. เป็นผู้ดูแล
       
       “ข้อสอบ GAT/PAT มันเป็นการวัดความรู้ที่ตกผลึกก็จริง แต่เด็กอาจจะมองว่ามันไม่ตรงกับที่เขาเรียนมา ที่ผ่านมาเด็กมองว่ามันเป็นคนละเรื่องกับที่เขาเรียนมา ในทางปฏิบัตินั้น เนื้อหาในหลักสูตรมีระบุไว้อยู่แล้วว่าต้องสอนอะไรบ้าง ส่วนเนื้อหาที่จะเอาไปสอบ GAT/PAT นั้น จะนำมาสอนในห้องเพิ่มก็คงไม่ได้เพราะเนื้อหาที่สอนตามหลักสูตรก็มากอยู่แล้ว แต่อาจจะทำได้นอกเวลา โดยตัวครูเองก็ต้องไปศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติม และจัดหาเวลาสอนเพิ่ม
       
       “ทุกวันนี้ ทางโรงเรียนก็ได้จัดหาครูที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อสอบ GAT/PAT และชำนาญในเรื่องนี้มาสอนเพิ่มอยู่แล้วในช่วงนอกเวลาเรียนปกติ แต่เด็กนักเรียนก็ยังมีเสียงสะท้อนออกมาว่าตัวเขาเองก็ยังไม่ค่อยเข้าใจอยู่ดี ซึ่งถ้า ทางผู้ออกข้อสอบมองว่าข้อสอบของตนเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว ก็น่าจะลองมาฟังเสียงของนักเรียนที่ต้องทำข้อสอบดูบ้าง ว่าเขาเข้าใจไหม และรู้สึกว่ามันยากหรือง่ายไปไหม”
       
       สทศ. ความตั้งใจที่ดี
       
       สำหรับ ยุทธชัย เฉลิมชัย ที่ปรึกษาสมาคมบ้านเรียนไทย พูดถึง สทศ. ว่า ถึงแม้ความตั้งใจเดิมของการก่อตั้งหน่วยงานนี้จะเป็นความตั้งใจที่ดี แต่ระบบทั้งระบบของการศึกษาไทยยังคงลักลั่น ไม่สอดคล้องกัน ข้อเรียกร้องของ สทศ. ที่ต้องการให้นำการวัดผลที่ได้ไปใช้ปรับปรุงการเรียนการสอนจึงไม่สามารถทำได้ เพราะไปผูกติดอยู่กับหลักสูตรที่ถูกกำหนดมาแล้ว
       
       “ในระบบจะสอนตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ทุกที่สอนเหมือนกันหมดตามหลักสูตร และหลักสูตรของ 2551 เป็นหลักสูตรที่เน้นเรื่อง 8 กลุ่มสาระวิชา ในแต่ละวิชาจะกำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัด กลายเป็นว่าการสอนของครูจะต้องสอนครบตามหลักสูตร ตามตัวชี้วัดของหลักสูตร กลายเป็นเรื่องของการสอนเนื้อหาและประเมินกันที่ตัวเนื้อหา ถ้า สทศ. บอกว่าจะเน้นให้เด็กรู้จักวิเคราะห์ คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น ก็ต้องไปปรับปรุงเรื่องหลักสูตรใหม่ ซึ่งหลักสูตรกระทรวงก็ไม่ได้เน้นการวิเคราะห์เท่าไหร่”
       
       นักเรียนกับข้อสอบ สทศ.
       
       เอกชชัต ตราทอง นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ที่เคยผ่านข้อสอบ GAT/PAT มาแล้วบอกว่า GAT/PAT เป็นการสอบแอดมิชชันเข้ามหาวิทยาลัย เป็นเหมือนกับการสอบวัดผลของนักเรียน และถือเป็นเรื่องที่ดีในการสอบ เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสแก่นักเรียน สามารถเลือกคะแนนที่ดีที่สุด เพื่อไปยื่นเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย
       
       “ในการสอบที่ทุกคนจะต้องได้สอบ จะมีการสอบ 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายในเดือนมีนาคม และสามารถตรวจดูผลได้ทางอินเทอร์เน็ต หากพูดถึงปัญหาการสอบ GAT/PAT จะมีปัญหาทางเรื่องอินเทอร์เน็ตเรื่องเว็บไซต์ และระบบของสทศ. เอง ปกติจะมีจดหมายมาที่บ้านแต่ตอนนี้สามารถดูได้ทางอินเทอร์เน็ตแต่ระบบแย่มาก”
       
       ส่วนธัญลักษณ์ เกียรติรุ่งอรุณ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเบญจมราชาลัย ในพระบรมราชูปถัมป์ ที่ยังไม่เคยผ่านการสอบ GAT/PAT มาก่อน ไม่รู้ว่าคืออะไรรู้ว่าแต่ต้องสอบ เมื่อโรงเรียนให้สอบ
       “ไม่ค่อยรู้จักว่าการสอบ GAT/PAT คืออะไรเท่าไหร่ รู้แต่ว่าต้องสอบ เพื่อเอาคะแนนไปยื่นเข้าเรียนมหาวิทยาลัยของรัฐบาล”
       
       ……..
       
       แม้ที่มาที่ไปของประเด็นยุบหรือไม่ยุบ สทศ. จะมาจากการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่นำผลการทดสอบของสทศ. ไปใช้ประโยชน์ในระบบการศึกษา จึงทำให้รักษาการผู้อำนวยการ สทศ. ออกมาแดกดักและกระทุ้งให้หลายหน่วยงานรู้บ้างว่าจัดตั้งอะไรขึ้นมาแล้วก็ควรจะใช้ให้เกิดประโยชน์อันสูงสุด มิใช่จะให้เป็นเพียงการใช้งบประมาณโดยเปล่าประโยชน์
       
       ละครชุดสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กำลังเดินทางมาถึงจุดไคลแมกซ์ นักเรียนและผู้ปกครองทั่วประเทศอย่าพลาด...รอลุ้นตอนต่อไปว่า อวสานหรือไม่...
       

 

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้