คนเก่ง แต่โกง คนไม่เก่ง แต่ไม่โกง
นำเข้าเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2556 โดย นายจุฬา ศรีบุตตะ
อ่าน [58564]  

.....

 

คอลัมน์ สยามประเทศไทย

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาเป็นที่รับรู้แล้วนินทากันทั่วไปว่าล้มเหลว เพราะผู้รับผลประโยชน์จากปฏิรูปไปเต็มๆ ล้วนเป็นผู้บริหาร (พุงกาง) ตั้งแต่ระดับบนจนระดับล่าง แต่ยังไม่ถึงครู (อาจารย์)-นักเรียน (นักศึกษา) ที่คงรักษาระบบ "ท่องจำ" ตามวัฒนธรรมเถรวาทไทยเหมือนร้อยปีที่ผ่านมา ไม่ได้ก้าวหน้ากว่าเดิม

นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช ประธานคณะกรรมการการศึกษา วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษาว่า เท่าที่ดูหลายเรื่องยังไม่ค่อยมีความชัดเจน แล้วยกตัวอย่าง

"เรื่องคุณภาพการศึกษา ที่จะต้องกินความไปถึงคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งรัฐบาลจะต้องวางแนวทางให้ชัดเจนในเรื่องการส่งเสริมกิจกรรมนักเรียน นักศึกษา เพื่อพัฒนาจิตสำนึกสาธารณะ และความคิดเชิงวิเคราะห์ หรือกิจกรรมลูกเสือ รวมถึงการเรียนประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น และการนำหลักศาสนาเข้ามาช่วยในระบบการเรียนการสอน เป็นต้น" (มติชน วันพฤหัสบดีที่ 8 มกราคม 2552 หน้า 22)
ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เขียนคำนิยมว่า หนังสือประวัติศาสตร์สิบสองปันนา ของศาสตราจารย์ยรรยง จิระนคร และอาจารย์ ดร. รัตนาพร เศรษฐกุล ได้เพิ่มความรู้ที่สำคัญให้แก่ประวัติศาสตร์ของชาติไทย

การศึกษาสิบสองปันนาคือการศึกษากรณีพิเศษ เป็นกรณที่เราเห็นและสัมผัสสังคมและวัฒนธรรมไทโบราณต่อหน้าต่อตา ยังดำรงอยู่อย่างน้อยก็ถึง ค.ศ. 1950 ปียกเลิกระบบเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินสิบสองปันนา เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะที่ตั้งของสมาพันธรัฐสิบสองปันนาเป็นแบบเมืองลับแล ห่างไกลจากมหาอำนาจทุกรัฐ ห่างจากจีน จากพม่า และจากไทย อยู่ ณ เขตภายในของแม่น้ำโขง เหนือประเทศลาว ในอดีตเข้าถึงได้ยากมากไม่ว่าจากทิศทางใด บ้านเมืองนี้จึงคงดำรงลักษณะโบราณต้นแบบสังคมและวัฒนธรรมไทไว้ได้มาก

ข้าพเจ้าคิดว่าหนังสือประวัติศาสตร์สิบสองปันนา ของศาสตราจารย์ยรรยง และอาจารย์ ดร. รัตนาพร ให้ภาพที่ชัดเจนว่าไทโบราณเป็นสังคมเอเชียติก และเป็นเอเชียติกแบบที่อำนาจกระจายอยู่กับท้องถิ่น แม้มีรัฐ รัฐก็มีอำนาจไม่มาก ไม่เป็นรัฐแบบรวมศูนย์
คุณภาพการศึกษา ที่คุณสิริวัฒน์มีข้อเสนอแนะ 3 ประเด็น คือ จิตสำนึกสาธารณะ, ประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น, หลักศาสนานั้น คือความรู้ภายใน ที่เป็น "นามธรรม" สำคัญยิ่ง แต่คนทั่วไปไม่เห็นความสำคัญ เพราะต้องการความรู้ภายนอก ที่เป็น "รูปธรรม" เช่น ทางวิทยาศาสตร์, คณิตศาสตร์, ธุรกิจการค้า, ฯลฯ เพื่อเอาไปใช้งานกอบโกยอย่างตะกละตะกลามให้แก่ตัวเองและญาติพี่น้อง ส่งผลให้มีสันดานดังนักปราชญ์ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองบอกว่า โคตรโกง หรือโกงทั้งโคตร

สังคมต้องตั้งคำถามว่า ระหว่างคนดีที่ไม่โกง แต่ไม่เก่ง กับคนเก่ง แต่โกง และโคตรโกง เราจะเลือกมีพลเมืองแบบไหน?

จิตสำนึกสาธารณะ หรือจิตสาธารณะ เป็นแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์และความเป็นประชาธิปไตย สังคมไม่มีวันสงบได้เมื่อไร้จิตสำนึกสาธารณะ

ทุนนิยมก้าวหน้าก็เพราะพลเมืองมีจิตสำนึกสาธารณะ ส่วนทุนนิยมล้าหลังอย่างตะกละตะกลาม เพราะไร้จิตสำนึกสาธารณะ ดูได้จากการจราจรในกรุงเทพฯและประเทศไทย ไร้วินัย ไร้ระเบียบ ไร้จิตสำนึกสาธารณะ ส่งผลให้ตายโหงตายห่ากันทุกปีใหม่และสงกรานต์

ประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น จะกระตุ้นให้มีพลังจิตสำนึกสาธารณะ เริ่มจากรู้จักท้องถิ่นตน รักท้องถิ่นตน แล้วรักคนอื่น รู้จักท้องถิ่นอื่น ส่งผลให้เคารพตนเอง เคารพผู้อื่น

การศึกษานอกโรงเรียน (หรือการศึกษานอกระบบ หรือการศึกษาตามอัธยาศัย) ก็คือ การศึกษาทางเลือกนั่นแหละ ควรเอาจริงเอาจังกับงานเผยแพร่ความรู้ท้องถิ่นผ่านสื่อสาธารณะอันหลากหลาย เพื่อให้คนต่างถิ่นมีความรู้ไปพร้อมๆ กัน และคลุกเคล้าไปกับความรู้อาชีพ จะทำให้คนที่รับความรู้ทั้งเรื่องอาชีพและความเป็นมาท้องถิ่นเกิดจินตนาการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ต่อไปข้างหน้า ทำให้คนท้องถิ่นผูกพันกับท้องถิ่นตน แล้วมีชีวิตรอดปลอดภัยได้ ในที่สุดจะเกิดการแลกเปลี่ยนกับท้องถิ่นอื่น แล้วเดินทางท่องเที่ยวท้องถิ่นอื่น เป็นท่องเที่ยวทางเลือกที่ "สั่งสม" ความรู้เพิ่มเติมและกว้างขวางขึ้น ความรู้ที่ได้จากการ "สั่งสม" ย่อมยั่งยืนกว่าที่ได้จากการ "สั่งสอน"

หลักศาสนา ที่สำคัญมากๆ คือ กาลามสูตร 10 ข้อ ผมเคยเขียนหลายครั้งแล้ว ล่าสุดก็อาราธนาข้อเขียนท่านพุทธทาสมาเผยแพร่ต่อกันหลายวัน ให้หาอ่านกันเอง ถ้าทำตามกาลามสูตรได้ก็จะเกื้อกูลให้เกิดประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้งแน่

ปัญหาอยู่ที่คณะทำงานปฏิรูปการศึกษาต่างเป็นพวก "กึ่งดิบกึ่งดี" อาณานิคมทางปัญญาของอเมริกา-ยุโรป มาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 4 เลยไม่รู้จักและไม่เข้าใจกาลามสูตรที่เป็นพื้นฐานรากเหง้าเก่าแก่ทางพุทธศาสนาของสังคมสยามประเทศไทย

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้