..เจ้าสัว ชาตรี โสภณพนิช ส่องกระจกรัฐบาล"ยิ่งลักษณ์"
นำเข้าเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2555 โดย pop
อ่าน [58542]  

..เจ้าสัว ชาตรี โสภณพนิช ส่องกระจกรัฐบาล"ยิ่งลักษณ์".....

.....เจ้าสัว ชาตรี โสภณพนิช ส่องกระจกรัฐบาล"ยิ่งลักษณ์"

 
 
 

 

1 ปีของการบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น เราต่างก็ฟังความเห็น และข้อวิพากษ์ วิจารณ์จากนักการเมือง โดยเฉพาะฝ่ายค้าน นักวิชาการ และนักธุรกิจทั่วไป มามากต่อมากแล้ว

วันจันทร์นี้ ทีมเศรษฐกิจ ขอรับฟังความคิดเห็น พร้อมข้อเสนอแนะของ ชาตรี โสภณพนิช “บิ๊กบอสตลอดกาล” ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะนักการธนาคารอาวุโสที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้มีส่วนสำคัญสูงสุดในแวดวงการเงิน ธนาคาร และการลงทุน ซึ่งจัดเป็นพลังหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยมาตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาบ้าง

ขอทราบความคิดเห็นที่มีต่อรัฐบาลของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร


โดยทั่วไปก็ต้องตอบว่า ดีพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวนายกรัฐมนตรีเอง ซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารงานราชการแผ่นดิน หรือแม้แต่งานด้านการเมืองมาก่อนเลย ตรงนี้ต้องให้เครดิตท่านมาก เพราะสามารถควบคุมทีมงานในฝ่ายรัฐบาลให้อยู่เป็นปึกแผ่นได้ดีมากทีเดียว

และยิ่งไปกว่านั้น ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ยังไม่ปรากฏข่าวใหญ่อื้อฉาวในด้านคอรัปชันที่ชัดเจนของคนในรัฐบาล เรื่องนี้ต้องขอชมเชยเป็นอย่างยิ่งเลยนะครับ

แต่ถ้าจะแยกส่วนประเมิน ก็ย่อมจะมีทั้งจุดอ่อน และจุดแข็งคละกันไป ที่เห็นว่าโดดเด่นมากที่สุดคือ การพยายามเอาแนวนโยบายประชานิยมมาใช้อย่างจริงจังทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น นโยบายจำนำพืชผล นโยบายสาธารณสุข และบรรเทาทุกข์ เงินกองทุนหมู่บ้าน การศึกษา ตลอดจนนโยบายค่าจ้างแรงงาน การลงทุน ภาษีอากร และอื่นๆอีกหลายอย่าง เรื่องนี้เห็นชัดเจนมาก และคนส่วนใหญ่ก็ชอบด้วย เพราะได้ประโยชน์โดยตรงแม้จะไม่ค่อยเป็นกอบเป็นกำก็ตาม

ส่วนการบริหารด้านสังคม และการเมืองจริงๆนั้น ยังคงจะต้องให้เวลาอีกสักครู่หนึ่งจึงจะประเมินได้ถูกต้อง แม้ว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ยังไม่ปรากฏผลบวกที่เป็นรูปธรรม ยังมีการต่อต้านเดินขบวนของบุคคลในหลากหลายกลุ่มเป็นประจำ ทั้งตัวคณะรัฐมนตรีเองก็ยังมีการประสานงานกันไม่ค่อยจะดีนัก ทำให้ข่าวสารที่ออกมา แทนที่จะเน้นไปยังผลงานในแต่ละภาคส่วน กลับไปหนักอยู่บนเวทีการต่อสู้ และชิงไหวพริบกันในเกมการเมืองแทน

อย่างนี้คนทำมาค้าขายเขาก็ไม่สบายใจ นักลงทุนก็ยังไม่กล้าเสี่ยง กิจการธุรกิจก็ไม่เดินหน้าได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น ณ เวลานี้ คนทั่วไปเลยยังมองไม่ค่อยจะเห็นชัดเจนว่าผลงานเป็นอย่างไร

สรุปแล้วก็คงจะเห็นพ้องต้องกันนะครับว่า รัฐบาลยังคงจะต้องใช้ความสามารถ ความพยายาม และขยันทำงานกันให้มากขึ้น เพื่อจะสร้างผลงานให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

“หากจะเปรียบก็เสมือนบริษัทธุรกิจนั่นแหละ บริษัทเพื่อไทย ตอนนี้ก็ดูใหญ่โตแข็งแรง

ดีอยู่ แต่ถ้าลองไปตรวจดูบัญชีผลประกอบการ ก็ยังไม่เห็นกำไรมากมายอะไรนัก เรียกว่าพอประคองตัวอยู่ได้ ไม่ถึงกับเจ๊งนะครับ อะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต เรื่องนี้ยากที่จะรู้ได้ ก็เห็นจะต้องให้เวลาเขาอีกสักหน่อย”

เชื่อมั่นในมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมมากน้อยเพียงใด

ปัญหานี้เป็นเรื่องของภัยธรรมชาติ ที่ท่วมใหญ่ก็เคยมีอยู่หลายครั้งเหมือนกันในอดีต ผิดกันก็แต่ครั้งที่แล้วนี่ท่วมแล้วขังอยู่นานมากเกินไป ความเสียหาย และความเดือดร้อนจึงเกิดขึ้นมาก

ประเด็นปัญหาคือเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นแล้ว ทางการจะมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาไม่ให้ลุกลามแผ่ขยายไปในวงกว้างได้ดีมากน้อยอย่างไร คราวที่แล้วรัฐบาลสอบตกในเรื่องนี้ แต่นั่นก็เป็นมหาภัยครั้งแรก ความรอบรู้ และการประสานงานกันข้ามกระทรวง หรือหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ยังมีปัญหาอยู่มาก

ผมว่าเรื่องอย่างนี้ นักธุรกิจ และชาวบ้านเขาพอเข้าใจนะครับ แต่ก็กำลังจ้องดูอยู่ว่าทางราชการเขาได้เรียนรู้ตัวปัญหา และปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพของการแก้ไขปัญหากันอย่างไรบ้าง และถ้าฝนเกิดตกหนัก มรสุมเข้า น้ำท่วมขึ้นมาอีกครั้ง ทางการจะรับมือได้มากน้อยเพียงใด

“ถ้าจะให้ตอบก็คงจะให้ความมั่นใจได้ครึ่งใจ ส่วนอีกครึ่งใจ ยังคงมีความสงสัยอยู่ แต่ถ้าพูดถึงเรื่องบรรยากาศการลงทุน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อาจจะมีส่วนเกี่ยวกับน้ำท่วมบ้าง แต่ไม่ใช่ประเด็นหลัก เรื่องสำคัญของการลงทุนอยู่ที่บรรยากาศ ตลาด และผลกำไรขาดทุน”

คราวนี้การผลิตสินค้าในประเทศเราเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ของไทยจะมีต้นทุนสูงกว่า แต่แรงงานของไทยก็มีประสิทธิภาพ และคุณภาพสูงกว่าแน่นอน ดังนั้น การเลือกสถานที่ตั้งของการผลิต หรือการลงทุนอื่นใดก็ตาม เขาจะดูถึงผลตอบแทนในระยะยาว ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งทางด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ขนบธรรมเนียมประเพณี การศึกษา แนวนโยบายหลักของรัฐบาล และสถาบันหลักของประเทศนั้นๆ มากกว่าที่จะมาพะวงกับเรื่องที่ว่า เมื่อไหร่น้ำจะท่วม ฝนจะตก หรือแผ่นดินจะไหว

สิ่งเหล่านี้เป็นแค่องค์ประกอบเล็กๆในกระบวนการตัดสินใจว่า จะลงทุนที่ไหน ผลิตอะไร เป็นจำนวนเงินเท่าใด

nแล้วค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทล่ะ มีผลกระทบ ต่อการตัดสินใจลงทุนหรือไม่เพียงไร

“มีแน่นอนครับ แต่ตลาดจะสามารถปรับตัวได้หรือไม่ ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจ หรือธุรกิจ แต่เป็นเรื่องของการเมือง เป็นนโยบายของรัฐบาล”

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันนี้ เป็นการเพิ่มแบบก้าวกระโดด ซึ่งดูฝืนธรรมชาติเกินไปสักหน่อย แต่ในทางกลับกัน คนที่ดูเหตุการณ์จากด้านสังคม และความยุติธรรมก็จะพูดว่า ค่าแรงขั้นต่ำแค่นี้ เป็นเกณฑ์ที่เหมาะสมกับการยังชีพในปัจจุบัน

ประเด็นที่ถาม คือ เรื่องผลกระทบก็ต้องมีแน่นอน เพราะต้นทุนในด้านแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างแรง ทั้งเงินเดือนขั้นต่ำของแรงงาน มีปริญญาก็สูงขึ้นพร้อมๆกัน ต้นทุนรวมของผู้ประกอบการ ก็ย่อมสูงขึ้นเป็นธรรมดา แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแต่ละคนไม่เหมือนกัน

สำหรับธุรกิจที่ใช้แรงงานน้อย มีรายได้ดี มีกำไรสูง ก็จะไม่รู้สึกอะไรมากนัก แถมสิ้นปีรัฐบาลยังลดภาษีรายได้ธุรกิจให้อีกด้วย แต่ถ้าเป็นธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น การบริการ และอุตสาหกรรมขนาดย่อมทั้งหลาย จะได้รับผลกระทบมาก ถ้าไม่ค่อยมีกำไร หรือขาดทุนอยู่แล้ว ก็ยิ่งจะขาดทุนมากขึ้น ผลได้จากภาษีที่ลดให้ใหม่ ก็ไม่ได้อีก (เพราะขาดทุน)

ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้น ก็ย่อมจะต่างกันออกไปตามประเภท ลักษณะ ขนาด และผลประกอบการของแต่ละธุรกิจ ซึ่งนั่นเป็นผลกระทบโดยตรง ส่วนผลกระทบทางอ้อมก็น่าจะมีเช่นกัน ในเรื่องของระดับราคาสินค้า และการตัดสินใจการลงทุนในอนาคตของนักธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีทางเลือก เช่น ชาวต่างประเทศที่จะเลือกลงทุนในประเทศใดก็ได้ ซึ่งผลทางอ้อมนี้ เป็นเรื่องที่จะต้องพูดกันยาวมากครับ วันหลังมีเวลาค่อยมาคุยกันใหม่ก็แล้วกัน



คำถามนี้ออกจะยากที่จะตอบ เพราะไทยเราเป็นเศรษฐกิจประเภทเปิดกว้างต่ออิทธิพลของตลาดโลก ที่เห็นได้ชัดคือ มูลค่าการส่งออกบวกการนำเข้าแต่ละปีนั้น สูงมากถึง 150-160 เปอร์เซ็นต์ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เข้าไปแล้ว ถ้ารวมถึงการมีเสรีในการลงทุนต่างๆ ทั้งทางตรง และผ่านตลาดทุนแล้ว ก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก

ที่สำคัญ คือ เราต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด สิ่งเหล่านี้แหละที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจไทยในแต่ละขณะเวลา พูดง่ายๆก็คือ อะไรเกิดขึ้นกับตลาดโลก ไทยเราก็จะได้รับผลกระทบทั้งนั้น จะมากหรือน้อย ก็แล้วแต่ความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงในแต่ละกิจกรรมของโลก

ข้อสังเกตของผมก็มีอยู่ 2–3 ประเด็น คือ ขณะนี้รัฐบาลกำลังจะเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจกันยกใหญ่

ในด้านงบประมาณ เขากะไว้ว่าจะลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และอื่นๆ รวมแล้วก็ประมาณ 3 ล้านล้านบาท ภายใน 5-6 ปีนี้ สำหรับปีนี้ก็กำหนดไว้ชัดเจนที่จะลงทุน 1.6 ล้านล้านบาท แต่การลงทุนดังกล่าวเป็นเรื่องของโครงการใหญ่มากๆ เช่น ปรับปรุงสนามบิน ท่าเรือน้ำลึก รถไฟความเร็วสูง และระบบการขนส่งอื่นๆ

ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่ากว่าเม็ดเงินจริงจะเข้าสู่ระบบก็คงจะเป็นปีหน้า ไม่ใช่ปีนี้ ผลบุญของการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของรัฐบาล จึงจะเริ่มเห็นผลหลังจากปีนี้ไปแล้ว

ส่วนในครึ่งปีที่เหลืออยู่นี้ ก็ต้องดูตลาดโลก เรื่องที่สำคัญที่สุดในช่วงนี้ คือ เหตุการณ์ในสหภาพยุโรป (EU) หรือในตลาดร่วมยุโรปนั่นแหละ ประเด็นมีอยู่ว่า ถ้าอียูเขาแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินล้นพ้นตัวของเขาได้ และกรีซยังไม่แยกตัวออกไปจากตลาดร่วม เหตุการณ์ทั้งหลายทั้งมวลก็จะกระเตื้องดีขึ้น หรือไม่ทรุดลงไปมาก ซึ่งผลจากการนี้จะโยงไปถึงราคาน้ำมัน ราคาวัตถุดิบสำคัญๆ อัตราแลกเปลี่ยน ตลาดเงิน การธนาคาร ตลอดจนกระแสการค้าขายระหว่างประเทศด้วย

“คราวนี้ไทยเราก็ค้าขายกับยุโรปมากพอสมควร แต่ไม่มากเหมือนเมื่อก่อนนี้ คือ สมัยก่อนเราส่งสินค้าไปขายที่นั่นประมาณ 12-13 เปอร์เซ็นต์ ของสินค้าส่งออกทั้งหมด ตอนหลังนี้

ลดลงมาเหลือแค่ 7-8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งดูแล้วก็ไม่มีอะไรน่าหนักใจมาก เพราะถึงอย่างไรเขาก็ยังซื้อของจากเราอยู่ดี ไม่ว่าเศรษฐกิจเขาจะเป็นอย่างไร แต่อาจจะซื้อน้อยลงไปหน่อย คือ อาจจะเหลือแค่ 6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็พอทนได้...

แต่ผลกระทบทางอ้อมที่อาจจะมี คือ ประเทศอื่นๆ เขามักจะซื้อของจากไทยไปเป็นวัตถุดิบเพื่อส่งออกอีกต่อหนึ่งไปยังยุโรป อันนี้ดูจะเป็นผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นสักหน่อย”

ดังนั้น เรื่องที่เราคาดกันไว้ว่า เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 5–6 หรือ 7 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ อาจเป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแข็งแรงมีสุขภาพดีมากอยู่ ขออย่างเดียว น้ำอย่าท่วมอย่างปีก่อนก็แล้วกัน และข้อสำคัญที่สุด อย่าให้เกิดการวุ่นวายทางการเมือง และสังคมขึ้นมาอีกก็แล้วกัน มิฉะนั้นจะกลายเป็นเรื่องเศร้ามากเลย

วิกฤติยุโรปจะส่งผลกระทบถึงธนาคารไทยด้วยหรือไม่


เรื่องนี้ไม่น่าจะมีปัญหานะครับ ไม่ต้องห่วงเลย เพราะพื้นฐานของธนาคารไทยนั้น แข็งแรงมาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เขาก็วางระบบการดูแลและตรวจสอบอย่างเข้มงวดอยู่ตลอดเวลา เงินกองทุนของแต่ละธนาคารก็มีสูง และสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เสียด้วย

ส่วนเงินสำรองที่ธนาคารแห่งประเทศไทยถือไว้ ก็มีมากอย่างเพียงพอต่อการรับมือการผันผวนทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างดีทีเดียว “เรื่องเงินสำรองนี้สำคัญมาก รัฐบาลต้องระวังให้ดี อย่าให้ใครเอาเงินสำรองนี้ออกมาใช้มากเกินไปก็แล้วกัน”

สำหรับในด้านเงินบาท ของเราก็มีความยืดหยุ่นตามภาวะตลาดโลกอยู่แล้ว ความผันผวนในด้านอัตราแลกเปลี่ยน ก็คงจะมีบ้าง แต่คงจะไม่ถึงกับเป็นปัญหา

สรุปแล้ว ธนาคารของไทยมีสุขภาพดีมาก และดูจะดีกว่าธนาคารชั้นนำของโลกหลายต่อหลายธนาคารเสียด้วย เพราะธนาคารใหญ่ๆเหล่านี้ ขณะนี้มีปัญหามาก และถูกลดระดับความน่าเชื่อถือลงไปแยะ เขาจึงมีปัญหาเรื่องการระดมทุน เพราะฉะนั้น พวกเราสบายใจได้ในเรื่องของระบบการเงิน และการธนาคารของประเทศไทยเรา

ผู้ประกอบการทั่วไปควรจะเตรียมการรับมืออย่างไร

เรื่องนี้ผู้ประกอบการเขารู้ดีกว่าเรานะ เพราะเขาอยู่ในตลาดโดยตรง ซึ่งที่จริงผลกระทบของวิกฤตการณ์ ถ้าเกิดขึ้นจริง ก็จะมีไม่เท่ากัน คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมส่งออกด้านอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ อาหารทะเล อัญมณี และการท่องเที่ยว อาจจะถูกหางเลขมากกว่าคนอื่นในอุตสาหกรรมอื่น ส่วนคนที่ทำมาหากินกับตลาดภายในประเทศ ก็อาจจะไม่ได้รับผลกระทบเลย เป็นต้น

ถ้าจะให้แสดงความคิดเห็น ผมก็ขอแนะนำดังนี้นะครับ

1.ในช่วงนี้อย่าลงทุนเพิ่มมาก เพราะสถานการณ์ของโลกยังไม่สงบ และทิศทางในอนาคตยังดูได้ไม่ชัดเจน

2.พยายามลดต้นทุนการผลิตให้มากๆ เพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน และกระบวนการผลิตให้สูงขึ้นให้มากที่สุด เพราะนับวันต้นทุนการผลิตจะยิ่งสูงขึ้น

3.ที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ส่งออก ก็คือ จะต้องรีบขวนขวายหาตลาดใหม่ให้ได้ แต่อย่าทิ้งตลาดเก่าเสียนะ เพราะอย่างไรยุโรปก็จะต้องฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้อีกครั้ง ไม่ช้าก็เร็ว พอเขาฟื้น เราจะได้ไม่เสียโอกาส  ส่วนวิธีการค้าขายก็ต้องปรับปรุงให้เสี่ยงน้อยลง เช่น  แทนที่จะใช้เพียงใบสั่งซื้อสินค้าก็ต้องเริ่มให้เขาเปิด L/C จากธนาคารที่เชื่อถือได้ของเขามา เครดิตการค้าก็ควรจะเจรจาต่อรองให้เหลือสั้นลงมาบ้าง เพราะถ้ามัวแต่กลัวเสียลูกค้า พอเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว เราจะเสียใจมากกว่านี้

4.ในด้านการเงิน ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ส่งออก จะต้องดูกระเป๋าตัวเองให้ดี ถ้าคิดว่า มีเงินทุนไม่พอที่จะค้าขายต่อไปได้ในช่วงวิกฤติ ก็ต้องรีบปรึกษาหารือกับหน่วยงานของรัฐเพื่อเตรียมทางหนีทีไล่ด้านเงินทุนอุดหนุน หรือช่วยเหลือไว้เสียแต่เนิ่นๆ ก่อนที่ไฟจะไหม้บ้าน

ถ้าเตรียมตัวทั้งทางด้านการตลาด การผลิต และการเงินพร้อมแล้ว ก็ไม่น่าจะต้องพะวงกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นให้มากเกินเหตุ ข้อสำคัญ ต้องใจสู้ อย่าท้อถอย และตั้งสติให้ดีๆไว้เท่านั้น ก็จะปลอดภัยได้ในที่สุดครับ

และจำไว้เสมอว่า ทุกการลงทุน มีความเสี่ยง!

 

 

 
“บอส” มองทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังอย่างไรบ้าง

 

  •  

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้