ครูที่ดี..........(เอามะพร้าวมาขายสวน)
นำเข้าเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2555 โดย เอามะพร้าวมาขายสวน
อ่าน [58609]  

ปรัชญาและคุณธรรมสำหรับครู และลักษณะครูที่ดี .....

ปรัชญาและคุณธรรมสำหรับครู และลักษณะครูที่ดี

ปรัชญาและคุณธรรมสำหรับครู


ในความหมายของปรัชญาจัดว่าเป็นแนวอุดมคติในการดำเนินงานใด ๆ โดยใช้ปัญญา

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่คาดหวังไว้ เมื่อบุคคลได้เกิดความสนใจและใฝ่หาความรู้จากวิชาปรัชญาก็ย่อมได้รับอัตถประโยชน์อย่างมากมาย พอสรุปได้ดังนี้

1. ปรัชญาสอนให้รู้จักความจริงอันสิ้นสุด เช่น พระเจ้ามีจริงหรือไม่
2. ปรัชญาสอนให้รู้จักทฤษฎีแห่งความรู้ เช่น การวิจัยจะนำไปสู่การค้นหาคำตอบได้
3. ปรัชญาสอนให้รู้จักความดีและความถูกต้อง เช่น การทำประโยชน์ให้แก่สังคมถือว่าเป็นความดี
4. ปรัชญาสอนให้รู้จักความงาม เช่น การประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่เป็นที่ชื่นชอบของสังคม อันก่อให้เกิดความเพลิดเพลินและเป็นสุขใจ
5. ปรัชญาสอนให้เกิดอุดมคติในการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติหน้าที่การงาน เช่น สอนให้บุคคลเป็นครูในอุดมคติ หรือเป็นครูที่มีอุดมการณ์ที่จะช่วยพัฒนาชนบทอย่างแท้จริง
6. ปรัชญาสอนให้รู้จักประเมินคุณค่าในพฤติกรรมของบุคคลว่าถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่

ดังได้กล่าวแล้วว่า ปรัชญาเป็นแนวอุดมคติในการดำเนินงานใด ๆ โดยใช้ปัญญาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่คาดหวังเอาไว้ สำหรับคุณธรรมคุณงามความดีของบุคคลที่กระทำไปด้วยความสำนึกในจิตใจ โดยมีเป้าหมายว่าเป็นการกระทำความดี หรือเป็นพฤติกรรมที่ดีซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคม

ดังนั้น คุณธรรมสำหรับครู ก็คือคุณงามความดีของบุคคลที่เป็นครู ซึ่งได้กระทำไปด้วยความสำนึกในจิตใจ โดยมีเป้าหมายว่าเป็นการกระทำความดี หรือเป็นพฤติกรรมทีดีซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคม เช่น ครูที่มีความเสียสละ ครูที่มีน้ำใจงาม ครูที่มีความเกรงใจ ครูที่มีความยุติธรรม ครูที่รักเด็กและรักเพื่อนมนุษย์ ครูที่มีความเห็นอกเห็นใจลูกศิษย์ และครูที่มีมารยาทที่งดงามถือว่าเป็นครูที่มีคุณธรรมทั้งสิ้น

โดยหลักการ ครูจะต้องเป็นทั้งนักปราชญ์ และผู้ทรงศีล เพราะสังคมได้ยกย่องให้ครูเป็นปูชนียบุคคล เป็นผู้ประเสริฐและประสาทความรู้ สร้างความเป็นคนและอบรมสั่งสอนเด็กให้เป็นเด็กที่ดีของสังคม ความจำเป็นที่จะต้องให้ครูเป็นทั้งนักปราชญ์ และผู้ทรงศีลดังกล่าวแล้วชี้ให้เห็นว่า ความเป็นนักปราชญ์ของครูนั้น ครูจะต้องมีความดีและถ่ายทอดดี สอนให้เด็กได้รับความรู้และสนุกมีชีวิตชีวา ส่วนความเป็นผู้ทรงศีลของครู ในฐานะที่ครูเป็นแม่แบบของชาติหรือเป็นต้นแบบในพฤติกรรมทั้งปวง จะช่วยให้ครูเป็นคนดี วางตัวดี เป็นที่เคารพและเป็นที่น่าเชื่อฟังของลูกศิษย์ จึงกล่าวได้ว่า ครูต้องมีคุณธรรม หรือคุณธรรมสำหรับครูเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับครูอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าครูจำเป็นต้องมีคุณธรรม แต่คุณธรรมอย่างเดียวไม่เพียงพอครูต้องเป็นนักปรัชญาด้วย การเป็นนักปราชญ์ของครูจะช่วยให้ครูมีความรู้รอบ และรอบรู้ มีทัศนะกว้างไกลและลึก มองเห็นชีวิตของตนเองทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างทะลุปุโปร่ง และช่วงมองอนาคตของเด็กให้ทะลุปุโปร่งด้วย เพื่อจะได้ประคับประคองสนับสนุน และส่งเสริมให้เด็กเจริญก้าวหน้าอย่างเต็มที่

จึงสรุปได้ว่าปรัชญาและคุณธรรมสำหรับครูเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่เป็นครูเปรียบเสมือนกับโลหะธาตุที่มีเนื้อธาตุดี ย่อมเป็นโลหะที่ดี เช่นเดียวกันถ้าครูมีปรัชญาและคุณธรรมก็จะได้รับความยกย่องว่า เป็นครูดีของสังคมได้ (สงวน สุทธิ์เลิศอรุณ 2536:20–21)

 

หลักคุณธรรมสำหรับครู

ผู้บริหารการศึกษา ครูอาจารย์ อยู่ในฐานะที่เป็นผู้นำและเป็นแบบอย่างที่ดีของนักเรียน นักศึกษา การที่ศิษย์จะเคารพนับถือและมีความศรัทธาต่อครูอาจารย์ของตนนั้น ครูอาจารย์ต้องมีคุณธรรมเป็นปัจจัยสำคัญ

 

คุณธรรม 4 ประการ

ประการแรก คือ การรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตัวเอง ที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม
ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจตนเอง ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจ ความดี

ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต ไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด
ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความเชื่อ และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตนเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง

คุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้มีความเจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้ว และจะช่วยใช้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไปได้ดังความประสงค์ ครู อาจารย์เป็นคนไทยคนหนึ่งที่ควรถือปฏิบัติตามหลักคุณธรรมดังกล่าวเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ สถาบันวิชาชีพครูจะได้มีความเจริญก้าวหน้า สังคมและประเทศไทยจะได้มีความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป

นอกจากหลักธรรม 4 ประการดังกล่าวมาแล้ว ผู้บริหาร ครู อาจารย์และเจ้าหน้าที่ในสถาบันการศึกษา ยังต้องประพฤติและปฏิบัติตามหัวข้อธรรมดังกล่าว เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ และนักเรียน อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ การเรียนการสอนก็จะต้องจัดตามความมุ่งหมายของรัฐ

การศึกษาตามนัยแห่งแผนการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2520 เป็นกระบวนการต่อเนื่องกันตลอดชีวิต เพื่อมุ่งสร้างเสริมคุณภาพของพลเมืองให้สามารถดำรงชีวิตและทำประโยชน์แก่สังคม โดยเน้นการศึกษาเองสร้างเสริมความอยู่รอดปลอดภัย ความมั่นคงและความผาสุกร่วมกันในสังคมไทยเป็นประการสำคัญ จึงได้กำหนดความมุ่งหมายของการศึกษาไว้ 9 ข้อ

ความมุ่งหมายของการศึกษา 9 ข้อ เน้นเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะที่ดีงามของบุคคล เพื่อสร้างเสริมคุณภาพของพลเมือง ซึ่งอาจสรุปเป็น คุณลักษณะของคนไทยที่มีความจำเป็นจะต้องปลูกฝังให้ถึงพร้อมในสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนี้

 

คุณลักษณะของครูที่ดี 10 ประการ

1. ความมีระเบียบวินัย หมายถึง ความประพฤติ ทั้งทางกายและวาจาและใจ ที่แสดงถึงความเคารพในกฎหมาย ระเบียบประเพณีของสังคม และความประพฤติที่สอดคล้องกับอุดมคติหรือความหวังของตนเอง โดยให้ยึดส่วนรวมสำคัญกว่าส่วนตัว

2. ความซื่อสัตย์สุจริตและความยุติธรรม หมายถึง การประพฤติที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่เอาเปรียบ หรือคดโกงผู้อื่นหรือส่วนรวม ให้ยึดถือหลักเหตุผล ระเบียบแบบแผนและกฎหมายของสังคมเป็นเกณฑ์

3. ความขยัน ประหยัด และยึดมั่นในสัมมาอาชีพ หมายถึง ความประพฤติที่ไม่ทำให้เสียเวลาชีวิตและปฏิบัติกิจอันควรกระทำให้เกิดประโยชน์แก่ตนและสังคม

4. ความสำนึกในหน้าที่และการงานต่าง ๆ รวมไปถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ หมายถึง ความประพฤติที่ไม่เอารัดเอาเปรียบสังคมและไม่ก่อความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่สังคม

5. ความเป็นผู้มีความคิดริเริ่ม วิจารณ์และตัดสินอย่างมีเหตุผล หมายถึง ความประพฤติในลักษณะสร้างสรรค์และปรับปรุงมีเหตุมีผลในการทำหน้าที่การงาน

6. ความกระตือรือร้นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีความรักและเทิดทูน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หมายถึง ความประพฤติที่สนับสนุนและให้ความร่วมมือ ในการอยู่ร่วมกันโดยยึดผลประโยชน์ของสังคมให้มากที่สุด

7. ความเป็นผู้มีพลานามัยที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ หมายถึง ความมั่นคงและจิตใจ รู้จักบำรุงรักษากายและจิตใจให้สมบูรณ์ มีอารมณ์แจ่มใสมีธรรมะอยู่ในจิตใจอย่างมั่นคง

8. ความสามารถในการพึ่งพาตนเองและมีอุดมคติเป็นที่พึ่ง ไม่ไว้วานหรือขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นโดยไม่จำเป็น

9. ความภาคภูมิและการรู้จักทำนุบำรุงศิลปะ วัฒนธรรม และทรัพยากรของชาติ หมายถึง ความประพฤติที่แสดงออกซึ่งศิลปะและวัฒนธรรมแบบไทย ๆ มีความรักและหวงแหนวัฒนธรรมของตนเองและทรัพยากรของชาติ
10. ความเสียสละ และเมตตาอารี กตัญญูกตเวที กล้าหาญ และความสามัคคีกัน หมายถึง ความประพฤติที่แสดงออกถึงความแบ่งปัน เกื้อกูลผู้อื่น ในเรื่องของเวลากำลังกายและกำลังทรัพย์

คุณลักษณะ 10 ประการนี้ เป็นทั้งแนวทางและเป้าหมายในการจัดการศึกษาและอบรมสั่งสอนนักเรียน ของสถานศึกษาทุกระดับและเจ้าหน้าที่ในสถานศึกษาต้องถือปฏิบัติด้วยเช่นกันผู้บริหารการศึกษาคือผู้ที่เป็นหัวหน้าสถานศึกษา คือ ครู อาจารย์ ผู้อำนวยการ และรวมไปถึงผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วย หรือรองของตำแหน่งผู้บริหารทุกระดับเป็นผู้มีความสำคัญต่อการจัดการและพัฒนาจริยศึกษาในสถานศึกษาเป็นอย่างยิ่งเพราะผู้บริหารการศึกษาเป็นทั้งผู้นำและเป็นผู้วางแผนการต่าง ๆ ในการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนทั้งหลายได้รู้จักและเข้าใจในหลักจริยธรรม ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาในระดับใดดังนั้นผู้บริหารจึงมีคุณธรรมและ

จริยธรรมตามที่กำหนดไว้สำหรับอบรมสั่งสอนนักเรียนนักศึกษาครบทุกข้อโดยเฉพาะคุณธรรมและจริยธรรมเป็นธรรมที่ผู้บริหารทุกคนจะต้องปฏิบัติและตระหนักอยู่ในใจเสมอ คือ

1. การมีความละอายในการทำความชั่ว ทำความทุจริตทั้งปวงและเกรงกลัวและสะดุ้งกลัวต่อความชั่วทั้งปวง ซึ่งคุณธรรมข้อนี้ช่วยให้โลกมีความเป็นระเบียบบเรียบร้อยไม่เดือดร้อนวุ่นวาย

2. การมีความอดทน รู้จักอดกลั้นต่อแความยากต่าง ๆ ที่คนอื่นมีต่อตนและมีความสงบเสงี่ยม และความอ่อนน้อมถ่อมตน

3. มีสติสัมปชัญญะเต็มเป็นอยู่ตลอดเวลา รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนสม่ำเสมอ ไม่มีการลืมตัวหรือละเลยต่อหน้าที่ต่าง ๆ

4. รู้จักอุปการะ คือ ทำคุณประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น นึกถึงประโยชน์ของผู้อื่นเป็นที่ตั้ง พร้อมที่จะให้ความอนุเคราะห์แก่ผู้อื่น ในงานในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน ไม่มีอคติในการปฏิบัติต่อผู้ร่วมงานต่อศิษย์ หรือ นักเรียนและบุคคลอื่น ๆ

5. มีคุณธรรมประจำตน ในการที่ทำการงานในหน้าที่ของตนให้สำเร็จ(อิทธิบาท) 4 ประการมีความพอใจและเอาใจใส่ในหน้าที่การงานของตน มีความพากเพียรในการประกอบการงาน เอาใจใส่ในการงานไม่ทอดทิ้งและหมั่นตริตรองพิจารณาหาเหตุผลและวิธีที่จะทำให้การงานเจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ

6. มีคุณสมบัติอันประเสริฐ (พรหมวิหาร) 4 ประการ คือ มีความเมตตา ปรารถนาจะให้ผู้อื่นเป็นสุข มีความกรุณา สงสาร คิดหาทางให้ผู้อื่นพ้นจากทุกข์ มีมุทิตาปราบปลื้มยินดีในความสำเร็จ ความก้าวหน้าของผู้อื่นและมีอุเปกขา ความวางเฉย เห็นอกเห็นใจผู้ได้รับความทุกข์

7. มีคุณธรรมที่เป็นเครื่องผูกน้ำใจผู้อื่นและบุคคลทั่วไป(สังคหวัตถุ) ๔ ประการอยู่เป็นการประจำ คือ ให้ปันสิ่งของแก่บุคคลที่ควรให้ปัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อ แผ่แก่ผู้อื่นตามสมควรแก่กรณี(ทาน) มีวาจาอ่อนหวาน สุภาพเรียบร้อย(ปิยวาจา) ประพฤติตนเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อผู้อื่นและเป็นคนไม่ถือตัวไม่ถือยศศักดิ์ เข้ากันได้กับผู้ร่วมงานทุกคน ตามความเหมาะสมตามฐานะของตน (สมานัตตา)

8. หมั่นศึกษาหาความรู้รอบตัว ให้มีความรอบรู้ เพื่อเป็นผู้ที่ทันต่อเหตุการณ์ บุคคลและปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหน้าที่การงาน(พาหุสัจจะ)

9. ประพฤติตนให้ห่างจากอบายมุขหรือทางแห่งความเสื่อมต่าง ๆ ไม่กระทำตนให้เป็นผู้เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น ผู้ร่วมงาน หรือนักเรียน นักศึกษาทุกคน และบุคคลทั่วไป (ชำเลือง วุฒิจันทร์; 2524 น. 117–119)

กรรมการฝึกหัดครู (กระทรวงศึกษาธิการ กรมการฝึกหัดครู 2515 : 14–15)ได้กำหนดเกี่ยวกับสมรรถภาพในการเป็นครูว่าครูที่มีสมรรถภาพสูงนั้นควรมีคุณสมบัติ ดังนี้

1. ทำการสอนให้เป็นอย่างดี

2. สามารถทำการอบรม แนะแนว และปกครองได้เป็นอย่างดี

3. ทำกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียนได้เป็นอย่างดี

4.สร้างสัมพันธภาพได้เป็นอย่างดีและร่วมมือกับชุมชน

5. เป็นครูชั้นอาชีพโดยรู้จัก

1. เพิ่มพูนความรู้ให้แก่อาชีพอยู่เสมอ

2. เป็นสมาชิกที่ดีของทางวิชาการ

3. ยึดถือแบบธรรมเนียมของผู้เป็นครู

4. ช่วยเหลือแนะนำครูใหม่

สาโรจ บัวศรี ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับการเป็นครูที่ดีในด้านสมรรถภาพว่าต้องมี

คุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

1. สามารถทำการสอนได้เป็นอย่างดี โดยรู้จัก

1.ใช้หลักจิตวิทยาแห่งการเรียน
2.ใช้หลักการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็ก
3.ทำบรรยากาศที่เหมาะสมที่จะเกิดการเรียนรู้
4.วางแผนสำหรับการสอนอย่างถี่ถ้วน
5.ใช้วิธีการสอนแบบต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
6.ใช้แบบทดสอบชนิดต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมเพื่อวัดผลการเรียนวิเคาะร์แก้ไขและรู้จักวัดผลโดยทั่วไป 7.ปกครองชั้นและบริหารงานต่าง ๆ ของชั้นได้อย่างเรียบร้อยและราบรื่น ทำงานธุรการของโรงเรียนได้

2.สามารถอบรมแนะแนว และปกครองได้เป็นอย่างดี โดยรู้จัก

1.หลักการที่ว่า ถ้าทุกคนสร้างคุณธรรมและหลักธรรมต่าง ๆ ไว้ประจำตัวได้แล้ว
2.ใช้หลักการและวิธีการของการแนะแนว
3.สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับบิดามารดาและผู้ปกครอง
4.ใช้ผลของการวิจัย และผลของการทดสอบต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์ในการอบรม

3.สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียนได้เป็นอย่างดี โดยรู้จัก

1. ร่วมในการวางแผนจัดการ กิจกรรมในหลักสูตร หรือกิจกรรมร่วมหลักสูตรชนิดต่าง ๆ
2. รับหน้าที่และภาวะในการปฏิบัติกิจกรรมเหล่านั้นตามแผน
3. รักษาสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ร่วมงานทั้งปวงของโรงเรียน

4.สามารถสร้างสัมพันธภาพที่ดีและร่วมมือกับชุมชนเป็นอย่างดี โดยรู้จัก

1.ช่วยเหลือชุมชนในการแก้ไขปัญหาของชุมชน
2.ทำให้ชุมชนเข้าใจโรงเรียน และสนับสนุนในทางที่เหมาะสม
3.หาความร่วมมือจากมารดาบิดาของผู้ปกครอง
4.หาบุคคลอื่น และสิ่งต่าง ๆ ในชุมชนที่เป็นประโยชน์ในการสอน
5.ร่วมมือกับทางราชการปรับปรุงชุมนุมชน

5.สามารถเป็นครูชั้นอาชีพ โดยรู้จัก

1.เพิ่มพูนความรู้ให้แก่อาชีพครู โดยการเขียน การพูด การค้นคว้า การวิจัยการเป็นสมาชิกที่ดีของสมาคม หรือสถาบันทางการศึกษา
2.ยึดถือขนบธรรมเนียมของผู้เป็นครู และช่วยเหลือส่งเสริมเพื่อนครู
3.ส่งเสริมตัวเองให้งอกงามในทางวิชาการ ศึกษาอยู่เสมอ
4.ช่วยเหลือแนะนำผู้ที่เข้ามาเป็นครูใหม่ในโรงเรียนของตน

ธนู แสวงศักดิ์ มีความเห็นว่าลักษณะของครูที่ดีนั้นควรมี 5 ประการ ดังนี้

1. มีความสัมพันธ์กับนักเรียนดี คือ ครูจะต้องสนใจ เอาใจใส่ต่อปัญหาของนักเรียน คอยตอบปัญหาให้กระจ่าง แนะแนว รู้จักระงับอารมณ์ อดทน วางตัวเหมาะสม ไม่สนิทสนมกับเด็กมากเกินไปไม่ทำให้ขายหน้า รู้จักเปิดโอกาสให้นักเรียนประเมินผลการสอน และให้กำลังใจให้นักเรียนอย่างมีเหตุผล

2. มีความรักในอาชีพครู มีส่วนช่วยแนะนำเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนอยู่เสมอ ทันสมัยต่อความรู้และกิจกรรมของครู

3.ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อทางราชการ มีความสามารถในอาชีพ

4. มีจรรยาครู ไม่แพร่ข่าวลือ ซื่อสัตย์ต่ออาชีพ ไม่ขโมยผลงานของคนอื่น ไม่ให้ร้ายผู้อื่น มีมารยาทในการติดต่อสายงานทางด้านราชการไม่นำผู้อื่นมาพูดให้นักเรียนฟัง

5. มีคุณสมบัติส่วนตัวดี มีสติปัญญาดี มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความคิดริเริ่ม มีความกระตือรือร้น เป็นกันเองกับนักเรียน

6. มีรูปร่างท่าทางดี มีใบหน้าสะอาด ตัดผมเรียบร้อยสุภาพ เสื้อผ้าสะอาดเรียบร้อย และเหมาะกับกาละเทศะ รักษาท่าทางให้สง่างาม ไม่สูบบุหรี่ หรือรับประทานอะไรระหว่างที่ทำการสอนอยู่

 

คุณลักษณะที่ดีของครูที่ดีจากผลการวิจัย

ฝ่ายโครงการของวิทยาลัยครูบ้านเจ้าพระยา ได้ทำการวิจัยเรื่องลักษณะของครูที่สังคมต้องการ โดยนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ในเขตกรุงเทพฯ เป็นกลุ่มตัวอย่าง ได้สรุปผล ดังนี้

1. ด้านความประพฤติควรมีความประพฤติที่ดีเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็ก ๆ และสังคม

2. ด้านความรู้ทางด้านวิชาการ ควรมีความรู้กว้างขวางนอกเหนือไปจากความรู้เฉพาะ

3. ด้านการสอนต้องรู้จักพัฒนาปรับปรุงการสอนของตนให้ได้ผลดี

4. ด้านการปกครองนักเรียน ควรฝึกนักเรียนให้มีวินัยควบคู่ไปกับการอบรมทางศีลธรรม

5. ด้านมนุษย์สัมพันธ์ของครู ครูควรสร้างความเข้าใจและคุณความดีของสังคม

6. ด้านบุคลิกภาพของครู ครูควรแต่งกายเหมาะสม มีอารมณ์มั่นคง มีเสียงพูดชัดเจน และมีลักษณะของความเป็นผู้นำ

7. ด้านการทำงานนอกเวลา และงานอดิเรกของครู เห็นว่าครูควรทำได้ไม่กฎหมาย หรือขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม

ผลงานการวิจัยของ เฉลียว บุรีภัคดี เกี่ยวกับคุณลักษณะของครูที่ดีโดยการรวบรวมข้อมูลจากนักเรียน ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ผู้บริหาร พระ และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนทั้งสิ้น 7,762 คน มี ดังนี้

 

ครูที่ไม่ชอบมากที่สุด เรียงจากมากไปหาน้อย มี ดังนี้

1.ขาดความรับผิดชอบ
2.การเป็นคนเจ้าอารมณ์
3.ขาดความยุติธรรม
4.เห็นแก่ตัว
5.ประจบสอพอ

ครูที่ชอบมากที่สุด มี ดังนี้

1.ตั้งใจสอนและสอนเข้าใจแจ่มแจ้ง
2.ความเข้าใจและเป็นกันเอง
3.ความรับผิดชอบ
4.มีความยุติธรรม
5.ความเมตตา
6.ร่าเริง แจ่มใส สุภาพ
7.มีวิธีสอนแปลก ๆ
8.มีอารมณ์ขัน
9.เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่

ความบกพร่องของครู จากมากไปหาน้อย มี ดังนี้

ชาย

1.ความประพฤติไม่เรียบร้อย
2.มัวเมาในอบายมุข
3.การแต่งกายไม่สุภาพ
4.การพูดจาไม่สุภาพ
5.ไม่รับผิดชอบการงาน

หญิง

1.การแต่งกายไม่สุภาพ
2.ความเป็นคนเจ้าอารมณ์
3.ประพฤติไม่เรียบร้อย
4.ไม่รับผิดชอบการงาน
5.ชอบนินทา
6.จู่จี้ขี้บ่น
7.วางตัวไม่เหมาะสม
8.คุยมากเกินไป

หน้าที่ของครูที่จำเป็นมากที่สุด คือ

1.สอนและอบรม
2.การเตรียมการสอน
3.หน้าที่ธุรการ เช่น ทำบัญชีเรียกชื่อและสมุดประจำวันชั้น
4.การแนะแนว
5.การศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม
6.ดูแลอาคารสถานที่
7.ทำความเข้าใจเด็ก

ลักษณะของครูที่ดี เรียงตามลำดับ คือ

1.ความประพฤติเรียบร้อย
2.ความรู้ดี
3.บุคลิกการแต่งกายดี
4.สอนดี
5.ตรงเวลา
6.มีความยุติธรรม
7.หาความรู้อยู่เสมอ
8.ร่าเริง แจ่มใส
9.ซื่อสัตย์
10.เสียสละ

จำเนียร น้อยท่าช้าง ยังได้ทำการวิจัยเรื่องครูดีในทัศนะของเด็ก โดยเลือกสุ่มตัวอย่างจากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในเขตการศึกษา 5 ทุกจังหวัด เป็นจำนวน 2,418 คน ชาย 1,203 หญิง 1,215 คน สรุปได้ดังนี้

เกี่ยวกับคุณลักษณะทั่วไปของครู

1.ครูจะเป็นหญิงหรือชายก็ได้
2.อายุที่เหมาะสมของครูควรอยู่ในระหว่าง 31–40 ปี
3.สถานภาพสมรสของครูจะเป็นอย่างไรก็ได้
4.ครูที่สอนในระดับมัธยมศึกษาควรเป็นครูที่มีวุฒิในระดับปริญญาตรี
5.ครูควรมีความสามารถในการสอน โดยสามารถสอนได้ทั่วไป และมีความสามารถพิเศษเฉพาะรายวิชา
6.ในการเรียนวิชาใดวิชาหนึ่ง เช่น วิทยาศาสตร์ ปรากฎว่านักเรียนต้องการเรียนกับครูที่จบวิทยาศาสตร์เป็นวิชาเอกและจบวิชาครูมาด้วย


เกี่ยวกับบุคลิกภาพลักษณะของครู

1.ครูควรมีความสงบเสงี่ยม ต้องระมัดระวังในการวางตัวเสมอ
2.ครูควรแต่งกายเรียบร้อย ไม่แต่งกายนำสมัย และใช้เครื่องสำอางแต่พอประมาณ
3.พูดจาไพเราะนุ่มนวลอยู่เสมอ
4.ครูควรพูดเสียงดัง
5.มีอารมณ์เย็น
6.เป็นกันเองกับเด็กนักเรียนและมีอารมณ์ขันบ้าง
7.มีสุขภาพแข็งแรงทั้งทางด้านจิตใจและก็ทางด้านร่างกาย
8.มีลักษณะเป็นผู้นำและเป็นผู้ที่พึ่งพิงได้

เกี่ยวกับทางด้านวิชาการของครู

1.ควรศึกษาและเพิ่มเติมความรู้อยู่เสมอในทุกด้าน
2.ควรมีความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์
3.เคยเรียนวิธีสอนและผ่านการฝึกสอนมาก่อน
4.ควรมีวิชาความรู้วิชาวัดผล
5.ควรมีความรู้ในวิชาจิตวิทยา

การสอนและการปกครองของครู

1.ชอบครูที่ใช้อุปกรณ์การสอนช่วยในการสอน
2.ไม่ชอบครูที่มีความชำนาญแต่ไม่เตรียมการสอน
3.ชอบครูที่ให้งานและตรวจงานเสร็จเสมอ
4.ต้องการให้ครูสอนซ่อมนอกเวลาเรียน
5.ต้องการให้ครูมีกิจกรรมประกอบการสอนในบางโอกาส
6.ต้องการให้ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองบ้าง
7.ไม่ชอบครูที่เอาเวลาสอนไปทำงานอื่น
8.ชอบให้ครูยึดระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ โดยเคร่งครัด ถึงจะมีการลงโทษก็ยินดี
9.การลงโทษไม่ต้องการให้ครูเฆี่ยนตี
10.นักเรียนต้องการเรียนดีถึงแม้ว่าความประพฤติจะด้อยไปบ้าง

ความประพฤติของครู

1.ไม่เห็นด้วยกับการที่ครูจะไปเที่ยวพักผ่อนในสถานเริงรมย์ต่าง ๆ
2.ไม่อยากให้ครูดื่มสุรา เล่นการพนัน ไม่ว่าจะเป็นที่สโมสรข้าราชการหรือสถาบันที่ทั่ว ๆ ไป
3.ครูควรประพฤติตัวดีกว่าข้าราชการอาชีพอื่น ๆ เช่น หมอ หมายความว่า ตำรวจ ทหาร และข้าราชการปกครอง
4.ครูควรประพฤติตัวเรียบร้อย แต่ไม่ถึงกับจะเหมือนผ้าพับไว้
5.ครูควรรู้วัฒนธรรม แต่ไม่ต้องเคร่งครัดมากนัก
6.ครูควรเป็นกันเองกับเด็ก


มนุษย์สัมพันธ์ของครู

1.สามารถแนะนำให้เด็กได้ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องการเรียน
2.ไม่เห็นด้วยที่ครูแสดงตัวเป็นกันเองกับเด็กโดยการพูดจาแบบนักเลง ๆ
3.ชอบครูที่มีความยุติธรรมและเป็นคนใจดี
4.ไม่ชอบที่ครูจะเข้ากับผู้ปกครองโดยวิธีการร่วมดื่มสุราหรือเล่นการพนัน
5.ครูควรร่วมมือพัฒนาชุมชน เพื่อจะเข้ากับชุมชนได้
6.ครูควรเชิญผู้ปกครองมาร่วมปรึกษาหารือในการจัดกิจกรรมในโรงเรียนด้วย

ครูเป็นผู้ให้กำเนิดพลเมืองที่ดี คือ ชุบพลเมืองให้เป็นนักรู้ นักทำงาน นักพูด นักเขียน นักตำรา นักประดิษฐ์ นักค้นคว้าเหตุผล นักปราชญ์ ฯลฯ เป็นต้น.

 

 

 
กำลังแสดงหน้าที่ 1 จากทั้งหมด 0 หน้า [หน้าถัดไปคือหน้าที่ 2] 1
 

 
เงื่อนไขแสดงความคิดเห็น
1. ทุกท่านมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่กล่าวพาดพิง และไม่สร้างความแตกแยก
2. ผู้ดูแลระบบขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็น โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ ต่อเจ้าของความคิดเห็นนั้น
3. ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับคณะผู้จัดทำเว็บไซต์

ชื่อ :

อีเมล์ :

ความคิดเห็นของคุณ :
                                  

              * ใส่รหัสจากภาพที่เห็นลงในช่องด้านล่าง และใส่คำตอบจากคำถาม เพื่อยืนยันการส่งความเห็น
  และสำลีสีอะไร
    

          ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการแสดงความคิดเห็นโดยสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชื่อผู้เขียนที่้เห็นคือชื่อจริง และข้อความที่เห็นเป็นความจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ boyoty999@google.com  เพื่อให้ผู้ดูแลระบบทราบและทำการลบข้อความนั้นออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้