"จุดเปลี่ยน ของชีวิตที่เป็นแรงบันดาล.....อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ชื่อดัง เจ้าของทฤษฎีสัมพัทธภาพ เมื่อวัยเด็ก กว่าที่เขาจะพูดได้ ก็ปาเข้าไปอายุ 4 ขวบแล้ว แถมยังเคยสอบตกเอนทรานซ์เข้าโรงเรียนโพลีเทคนิคชั้นเลิศของสวิตเซอร์แลนด์ในครั้งแรกด้วย แต่ในปัจจุบันเรารู้จักเขาในฐานะอัจฉริยะผู้หนึ่งของโลก
โทมัส อัลวา เอดิสัน นักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวอเมริกันที่มีผลงานสิ่งประดิษฐ์นับพันกว่าชิ้น หนึ่งในนั้นก็คือหลอดไฟฟ้า แม้ว่าเขาจะฉลาดมาแต่เกิด แต่เขากลับถูกอาจารย์ในยุคนั้นที่มีการสอนแบบเคร่งครัด ตัดสินว่าเขาโง่ จนคุณแม่ของเอดิสันตัดสินใจสอนหนังสือให้เอดิสันเองที่บ้าน
มาร์ก ทเวน นักเขียนชื่อดังที่เขียนวรรณกรรม
อมตะอย่าง “ทอม ซอว์เยอร์” หรือ “ฮัคเคิล เบอร์รี่ ฟินน์” สมัยเรียนหนังสืออยู่ เขาเกลียดการเรียนหนังสือในระดับที่ยอมแกล้งตาย เพื่อจะได้ไม่ต้องไปโรงเรียน
บิลล์ เกตส์ มหาเศรษฐีผู้สร้างตำนานให้ไมโครซอฟท์ ครั้งหนึ่งเคยสอบได้คะแนนคณิตศาสตร์ 800 คะแนนเต็ม ในการสอบ SATs ของอเมริกา จนเข้ามหาวิทยาลัยดังอย่างฮาร์วาร์ดได้ แต่ด้วยความที่เขาคร่ำเคร่งกับโลกของคอมพิวเตอร์อย่างสุดชีวิต จนทำให้เขาเลือกที่จะโบกมือออกจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ แล้วเลือกเดินตามเส้นทางที่เขาฝัน
พอมานั่งอ่านชีวประวัติของบุคคลผู้ประสบความสำเร็จบนโลกใบนี้แล้ว สิ่งหนึ่งที่เราเห็นก็คือเส้นทางที่พวกเขาเดินนั้นใช่ว่าจะเป็นกราฟเส้นตรงแน่วไปสู่เป้าประสงค์เลยเสมอไป บางคนชีวิตต้องวิ่งเข้าตรอกเข้าซอยก่อนที่จะถึงเส้นทางหลัก
แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าคนเหล่านี้มีร่วมกันก็คือ
"จุดเปลี่ยน” ของชีวิตที่เป็นแรงบันดาลให้พวกเขามุ่งมั่นทำในสิ่งที่พวกเขามุ่งหวัง ถ้าใช้ศัพท์แสงทางภาพยนตร์ ก่อนจะเด่นดัง พวกเขาต้องประสบภาวะที่เรียกว่า
coming of age หรือการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่อีกวัยหนึ่ง ที่เข้าใจตัวเองมากขึ้น ว่าชีวิตต้องการอะไร ?
อีกคนหนึ่งที่ทำให้ผมฉุกคิดในประเด็นเรื่อง
“จุดเปลี่ยน” ของชีวิต ก็คือ ธงชัย บุศราพันธ์ เอ็มดีของบริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)
โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่โนเบิลฯทำแต่ละโครงการ ล้วนเป็นที่หอมหวนดึงดูดใจผู้ซื้อได้เป็นอย่างมาก เช่น โครงการโนเบิล รีไฟน์ ที่เปิดตัวมาแป๊บเดียว ยอดจองก็ล้นหลามแล้ว
ความสำเร็จนี้ส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้กับเอ็มดี “คนเก่ง” คนนี้
ก่อนที่จะเป็น “คนเก่ง” ได้ ธงชัยบอกว่า ต้องขอบคุณ “คำดูหมิ่น” ของบราเทอร์ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งเขาไม่มีวันลืมได้เลย
“ลูกคุณหัวไม่ดี เรียนไปก็เอนทรานซ์ไม่ติด อย่าไปเอนทรานซ์เลย ไปเรียนสายอาชีพดีกว่า” บราเทอร์พูดกับแม่ของธงชัยในวันที่เขาโดนไล่ออก
ที่ถูกปรามาสเช่นนี้ก็เพราะว่า ในวัยเด็ก ธงชัยเป็นเด็กชายที่รักการอ่านหนังสือมาก ในเวลาพักกลางวัน แทนที่เขาจะไปเตะฟุตบอล เล่นบาสเกตบอล เหมือนที่ผู้ชายคนอื่นเขาทำ แต่เขากลับสนุกอยู่ในโลกหนังสือที่ห้องสมุดของโรงเรียน หนังสือคลาสสิกอย่างสี่แผ่นดิน หรือรามเกียรติ์ ล้วนแต่ผ่านตาของเขามาตั้งแต่สมัยมัธยมหมดแล้ว แต่ปัญหาก็คือหนังสือส่วนใหญ่ที่เขาอ่านไม่ใช่หนังสือเรียน ทำให้คนอื่นมองว่าธงชัยไม่ใช่คนที่เรียนหนังสือเก่ง
จนในที่สุดเขาโดนไล่ออกจากโรงเรียนแห่งนี้ พร้อมด้วยคำสบประมาทจากบราเทอร์ในข้างต้นที่ธงชัยบอกว่า “นี่เป็นคำพูดที่กัดชีวิตเลยนะ”
และนี่คือ “จุดเปลี่ยน” ที่สำคัญของเอ็มดีคนนี้
“พอเขาด่าอย่างนี้ปุ๊บ ก็เกิดทิฏฐิขึ้นมาว่า คิดว่าทำไม่ได้ใช่ไหม เดี๋ยวจะทำให้ดู ผมเลยไปนั่งอ่านหนังสือเอง สอบเทียบเอง พอตอนเอนทรานซ์ ผมก็เลือกอันดับหนึ่งบัญชีจุฬาฯ แล้วผมก็เอนฯติด เพราะฉะนั้น มันก็เลยกลายเป็นสิ่งที่ปรู๊ฟชีวิตของผมว่า ไม่ว่าเราจะโง่ดักดานอย่างไร ถ้ามีความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่นจริง ๆ……วันนี้ต้องกลับไปกราบขอบคุณบราเทอร์คนนั้น ถ้าท่านไม่พูดประโยคนี้ ผมคงเป็นอะไรไปแล้วก็ไม่รู้”
อ่านมาถึงตรงนี้ ขอถามคุณผู้อ่านด้วยว่า แล้ว “จุดเปลี่ยน” ของคุณล่ะ หาเจอหรือยัง ?
ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ “วัยเยาว์ของคนใหญ่” งานเขียนของศุภาศิริ สุพรรณเภสัช (สนพ.มติชน)
Read more: ชีวิตต้องการ “จุดเปลี่ยน”… ไอน์สไตน์, เอดิสัน, มาร์ก ทเวน, บิลล์ เกตส์ และเอ็มดีโนเบิลฯ |